หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลื่อนการพิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดประเด็นที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ยื่น 4 ข้อสังเกตที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน ขอยืนยัน ตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม พร้อมย้ำว่า กระทรวงคมนาคม ขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่กทม. รายงานว่าการโอนกรรมสิทธิ์ ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจาก รฟม. ยังไม่สรุปรายละเอียดด้านการเงินช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้ไม่สามารถรับโอนโครงการได้
จากการประชุมร่วมระหว่าง กทม. รฟม. สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็ก แยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจากกทม.
เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจน ของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วย 6 -7 ของทราบผลการพิจารณาของกทม. และปัจจุบันกทม. ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมทราบ
สำหรับภาระทางการเงินและการโอนกรรมสิทธิ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง คือ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ - คูคต ให้กทม.แต่อย่างใด เนื่องจาก กทม.ยังไม่ได้ชำระหนี้ครบถ้วน ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีภาระค่าใช้จ่าย 3 ประเภท คือ เงินกู้ ใช้ สำหรับค่าก่อสร้างงานโยธา (เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน), งบประมาณแผ่น เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และค่าจ้างที่ปรึกษารายงาน PPP ,เงินรายได้ของรฟม. เป็นค่าภาษีบำรุงท้องที่
โดยการชำระหนี้สินของโครงการมีดังนี้
1. ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงินตามมติครม. จำนวน 19,163 ล้านบาท (วงเงินตามสัญญา 20,967.48 ล้านบาท) แบ่งเป็น เงินกู้ จำนวน 15,019.15 ล้านบาท,งบประมาณ จำนวน 4,115.88 ล้านบาท ,เงินรายได้รฟม. จำนวน 15.06 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กทม.ได้ทำสัญญายืมเงินกับกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ วงเงิน 19,163 ล้านบาท คงค้างจำนวน 15.06 ล้านบาท ที่รฟม.ใช้รายได้ดำเนินการ
2.ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ – คูคต ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 กทม.ยังไม่มีการชำระหนี้สินใดๆ โดย วงเงินตามมติครม. จำนวน 38,179 ล้านบาท (วงเงินตามสัญญา 44,339.95 ล้านบาท) แบ่งเป็น เงินกู้ จำนวน 28,166.63 ล้านบาท,งบประมาณ จำนวน 5,868.23 ล้านบาท ,เงินรายได้ รฟม. จำนวน 78.34 ล้านบาท
จากภาระทางการเงินดังกล่าว ที่กทม.ยังชำระไม่ครบถ้วน ดังนั้นจึงยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กทม. และยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินการติดตั้งสะพานเหล็ก แยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดค่าใช้จ่ายโครงการ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและรอคำยืนยันจากกทม.โดยกทม.เขียนเงื่อนไข ว่าให้ รฟม.นำโครงเหล็กของสะพานเก่า 2 ตัวที่รื้อออก ไปก่อสร้างใหม่ ในตำแหน่งที่กทม.ระบุ
โดยกทม. แจ้งภายหลัง ต่อมา กทม. ได้แจ้งให้ไปติดตั้งใหม่ที่แยกหทัยราษฎร์ 1 แห่ง และแยกพุทธมณฑลสาย2 อีก 1แห่ง ซึ่ง รฟม. ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก บริเวณดังกล่าวไม่อยู่ในแนวพื้นที่โครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งได้แจ้งให้สำนักการโยธา ของกทม.ทราบ และเสนอให้โอนเงื่อนไขนี้ไปให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในฐานะหน่วยงาน กทม.ที่ต้องรับโอนภาระหน้าที่ทั้งหมดของโครงการฯเป็นผู้ดำเนินการ แต่ สำนักการโยธา กับ สจส. ตกลงกันไม่ได้
#รถไฟฟ้าสายสีเขียว
#คมนาคม
#กรุงเทพมหานคร