+++เกาะติดเส้นทางทางการเงินเชื่อมโยงจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกับวัดพระธรรมกาย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่นกับพวก 8 คน ยักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯกว่า 15,000 ล้านบาท ออกหนังสือเรียกพระธัมมชโยและกลุ่มพระลูกวัดของวัดพระธรรมกาย ที่ปรากฏรายชื่อรับโอนเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวนเงินกว่า 800 ล้านบาท เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนสัปดาห์หน้า ดีเอสไอจะทยอยเรียกผู้เกี่ยวข้องที่ปรากฏชื่อมาสอบทุกราย ไม่ใช่แค่พระธัมมชโย และในวันพรุ่งนี้ 6 มีนาคม คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมร่วมกันเพื่อรายงานความคืบหน้าของคดี จากนั้นจะแถลงข่าวในรายละเอียดการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้การกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม รวมถึงการออกหมายเรียกนิติบุคคลที่ปรากฏชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯในช่วงปี 2552-2555 ที่นายศุภชัยเป็นประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ฯและเป็นผู้สั่งจ่าย
+++การออกหมายเรียกครั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ระบุชื่อพระธัมมชโยมาให้การ ในประเด็นที่ปรากฏชื่อในเช็ครับโอนเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพราะมีการตรวจสอบเอกสารข้อมูลทางการเงิน มีหลักฐานระบุชัดว่าพระธัมมชโยมีชื่อรับเช็คจากทางสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนชุดเดิมก่อนหน้านี้มีการสอบในประเด็นเช็ค 15 ฉบับ โดยครั้งนั้นพระธัมมชโยได้ส่งทนายความมาให้การกับพนักงานสอบสวน และชี้แจงในประเด็นเช็ค 15 ฉบับ ที่มีการโอนมายังพระธัมมชโยและพระในวัดพระธรรมกายอีก 2-3 คน ซึ่งคำให้การยอมรับว่ามีการรับโอนเงินจำนวน 13 ฉบับ เพราะเช็คอีก 2 ฉบับไม่สามารถนำไปขึ้นเงิน จึงมียอดเงินเข้าบัญชีวัดพระธรรมกายและชื่อพระจำนวนกว่า 700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้สอบปากคำพระครูปลัดวิจารณ์ ที่ปรากฏชื่อรับโอนเงิน 119 ล้านบาท ซึ่งให้การยอมรับเช่นกันว่ารับเงินจำนวน ดังกล่าวมาจริง จากนั้นนำเงินไปสร้างศูนย์ปฏิบัติที่ จ.ลพบุรี อีกทั้งยังระบุว่าตอนญาติโยมเอาเงินมาถวายก็ไม่เคยถามว่านำเงินผิดกฎหมายมาถวายวัดหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการกระทำผิดหรือไม่ ทั้งนี้ รายชื่อกลุ่มพระที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น พระวิรัช 100 ล้านบาท พระมนตรี 100 ล้านบาท
+++นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ดำเนินการขอคืนเงินบริจาคทั้งหมด 800 กว่าล้านบาทจากวัดพระธรรมกายว่า ทราบมาว่าคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เดรคิตยูเนียนฯได้แจ้งยอดเงินทั้งหมดเป็นหนังสือทวงให้พระธัมมชโย และคณะลูกศิษย์ คืนเงินบริจาคภายในเดือนมี.ค. หากยังไม่คืนเงิน ดีเอสไอ จะเข้าไปดำเนินการยึดทรัพย์สินวัดพระธรรมกาย ตามจำนวนยอดเงินบริจาค เพื่อนำเงินมาเยียวยาให้กับสมาชิกสหกรณ์ทุกราย เพราะขณะนี้ใกล้เวลาที่ศาลล้มละลายกลาง จะตัดสินให้สหกรณ์เครดิตยูเนียน เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ โดยศาลจะตัดสินชี้ขาดในวันที่ 20 มี.ค. หลังจากเรียกเจ้าหนี้มาสอบครบทุกปากแล้ว
+++ส่วนเรื่องที่พระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการถอนฟ้องคดี และขอให้รื้อฟื้นคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ฐานยักยอกทรัพย์วัดพระธรรมกาย ขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า กำลังรอในขั้นตอนของอสส.เพื่อให้พิจารณาสั่งการต่อไป ซึ่งคงจะต้องรอดูก่อนว่า อสส.จะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรบ้างและจะให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่า น่าจะพิจารณา และมีคำสั่งภายในสัปดาห์นี้
+++ส่วนคณะทำงานชุดนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เตรียมเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นของพุทธศาสนิกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมและทั่วถึงในการจะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เวทีแรกวันที่ 11 มีนาคม เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ส่วนเวทีที่ 2 และเวทีที่ 3 จะดูความเหมาะสม
+++วันนี้ นายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) พร้อมด้วยพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ปรึกษา สนพ. จะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่กองปราบปราม กรณีที่พระพุทธะอิสระ กระทำการที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ และมาตรา 44 ตรี หรือไม่ เนื่องจากพระพุทธะอิสระ ได้มีการแสดงออกผ่านทาง เฟซบุ๊ก และยังมีการเดินทางไปยังวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
+++เหตุโจรกรรมโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์จีนในพระราชวังฟองแตนโบล (Fontainebleau) ฝรั่งเศส เร่งติดตามโบราณวัตถุกลับคืนและจับคนร้ายมาดำเนินคดี นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส รายงานความคืบหน้าในการติดตามสถานการณ์จากหน่วยงานท้องถิ่นว่า พระราชวัง ฟองแตนโบล ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ภายหลังการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน พบว่ามีโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมทั้งสิ้น 20 ชิ้น โดยในจำนวนดังกล่าว มีโบราณวัตถุของไทยจำนวน 6ชิ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นโบราณวัตถุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลแกล้าฯ ถวายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี 2404 ได้แก่ 1. พระมหามงกุฎ 2. พระแสง 3. พระคนโฑ 4. พระแสงกรรไกร1 5. พระแสงกรรไกร2 และ 6.พาน นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตำรวจฝรั่งเศส แจ้งว่ามีหลักฐานชิ้นสำคัญในการสาวถึงตัวคนร้าย2 คน คือภาพจากกล้องวงจรปิดในพิพิธภัณฑ์ห้องจีน
+++การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มเวลา 09.00 น. จะเริ่มหารือเรื่องบทเฉพาะกาล นายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล กล่าวว่า บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาลงรายมาตรา คงมีไม่เกิน 20 มาตรา จะแบ่งเป็นเรื่องๆ คือ สิ่งที่เคยเป็นมาในช่วงก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 กระทั่งถึงช่วงที่มีการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเชื่อมต่อ จนถึงการทำหน้าที่ของ สนช. สปช. รวมถึง แม่น้ำ 5 สาย ในห้วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กมธ.ยกร่างฯบางคนมีความเห็นจะกำหนดตัดสิทธิทางการเมืองของ คสช.แต่ต้องดูที่ความเหมาะสม ส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ดี หากจะตัด คสช.ออกไป เพราะจะไม่มีการต่ออำนาจอีก เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมถึงแม่น้ำทั้ง 5 สาย ควรกำหนดระยะเวลาเว้นวรรคให้ชัดว่าไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง เพราะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญนี้โดยตรง เพื่อไม่ให้ ถูกครหาว่าร่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจ อย่างน้อยควรเว้นวรรค 2 ปี เหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯ
+++พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า หน้าตาของบทเฉพาะกาล แล้วเสร็จในวันที่ 6 มีนาคม เบื้องต้นจำนวนบทเฉพาะกาลคงไม่เกิน 320 มาตรา เมื่อบวกกับของเดิม 303 มาตรา ซึ่งการพิจารณาในเรื่องระยะเวลาการทำงานขององค์กรต่างๆ เช่น ป.ป.ช.ให้อยู่ในวาระ 9 ปี ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันมีวาระ 7 ปี แต่ชุดต่อไปให้ลดวาระเหลือ 6 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด ส่วน สนช.จะหมดวาระก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และ สปช.จะหมดวาระก่อนวันเลือกตั้งครั้งต่อไป 1 วัน ครม.จะหมดวาระเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ส่วนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ยังไม่มีการหารือ เช่นเดียวกับประเด็นการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เข้ามายึดอำนาจหรือไม่ จะเก็บไว้เป็นหัวข้อสุดท้าย คาดว่า คงเป็นประมาณวันที่ 5 หรือ 6 มีนาคม
+++ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เสนอต่ออายุตัวเอง ก็น่าสนใจ เนื่องจากในปีนี้ กรรมการป.ป.ช.จะพ้นวาระถึง 5 คน คือ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีในเดือนพ.ค. ส่วนนายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในเดือนก.ย. ขณะที่งานในภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองยังค้างเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องการความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนต่อไป จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือประมาณ 1 ปี แต่เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ จากคสช.
+++การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเรื่องเร่งด่วนดำเนินการกระบวนการถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา (อดีต สว.) 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสว.โดยมิชอบ เป็นวาระให้คู่กรณีมาตอบข้อซักถาม คณะกรรมาธิการ(กมธ.) จะถามคู่กรณีจำนวน 19 คำถาม โดยจะถามทางฝ่ายป.ป.ช. จำนวน 13 คำถาม และถามทางฝ่ายอดีต 38 ส.ว.จำนวน 6 คำถาม แนวคำถามมุ่งถาม ป.ป.ช.ในประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว รวมถึงการนำข้อกฎหมายใดมาเป็นฐานในการเอาผิดในกรณีดังกล่าว เป็นต้น ขณะที่ข้อซักถามที่จะมุ่งถามอดีต 38 ส.ว.จะเน้นเนื้อหาที่อยู่ในสำนวนชี้มูลของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ไม่ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.รอบที่ 2 หรือไม่ ตลอดจนประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่ลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าชื่อเสนอแก้กฎหมาย เป็นร่างกฎหมายคนละฉบับกัน
+++ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า ทุกคนพร้อมที่จะชี้แจงตอบข้อซักถามคาดว่าคงเป็นชุดเดิมที่เข้าชี้แจงในวันแถลงเปิดคดีคือ นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงแพชร นายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี และตัวเอง ไม่กังวลต่อการชี้แจง