กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2565 ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ.2565 ซึ่งจะช้ากว่าปกติ1-2สัปดาห์ และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยลักษณะอากาศจะไม่ร้อนอบอ้าวมากนัก จะมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในบางช่วงกับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย ประเทศไทยตอนบนประมาณ 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะต่ำกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่แล้ว (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2564 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-20
ข้อควรระวัง ในช่วงฤดูร้อนมักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้นมีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภค บริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าวด้วย
บริเวณประเทศไทยตอนบน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม อากาศจะอุ่นขึ้น โดยจะมีอากาศร้อน หลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับจะมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้น ช่วงกลางเดือนมีนาคมกลางเดือนเมษายนอากาศจะอุ่นขึ้นอีกโดยมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆและมีอากาศร้อนจัดบางแห่งในบางช่วง อุณหภูมิสูงสุด 42 - 43 องศาเซลเซียส กับจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลง ในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้บ้าง เนื่องจากจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในบางช่วง ประกอบกับจะมีลมใต้หรือลมตะวันออกเฉียงใต้พัดพาความชื้นจากอ่าวไทยเข้าปกคลุม
ส่วนในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายนถึง กลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวหลายพื้นที่ในบางวัน กับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ เนื่องจากลมใต้หรือลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน
บริเวณภาคใต้ ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในบางวัน คลื่นลมทั้งทะเลอ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร เนื่องจากลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้ จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วงจากนั้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไปบริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในบางวัน สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามัน จะมีกำลังแรงขึ้นในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกหรือลม ตะวันออกเฉียงใต้ที่ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้แทน
#ฤดูร้อน
CR:กรมอุตุนิยมวิทยา