นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมุมมองของแต่ละคน ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายอื่น ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่า คณะกมธ.ยกร่างจะจัดการความแตกต่างเช่นนี้อย่างไร ซึ่งปกติใช้เสียงข้างมากในการตัดสินพร้อมยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่รับฟังความเห็นของบุคคลภายนอก เพราะได้รายงานให้ที่ประชุม สปช. รับทราบตลอดว่า ทุกครั้งจะนำความเห็นของ สนช. สปช. และประชาชนมาพิจารณาประกอบการยกร่างเสมอ และเชื่อว่าประเด็นดังกล่าว จะไม่เป็นชนวนเหตุให้คนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการยกร่างฯ ขณะนี้เป็นเพียงด่านแรก ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงและทบทวนอีกครั้งก่อนที่จะส่งให้ สปช.พิจารณาในวันที่ 17 เม.ย. 2558
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นางทิชา ณ นคร อดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงสาเหตุการลาออกจากตำแหน่งว่า ถือเป็นเรื่องดีและเป็นการพูดออกมาจากใจ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ของคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ เพราะแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น มีมุมมองของตัวเอง เป็นเรื่องปกติและทำหน้าที่ด้วยความสุจริตอยู่แล้ว ส่วนกมธ.ยกร่าง รธน.ที่เห็นต่างจากนางทิชา เรื่องการกำหนดสัดส่วนสตรี จำนวน 1 ใน 3 เข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งก็ต้องรับฟังด้วย พร้อมระบุส่วนตัวเห็นด้วยกับนางทิชา เพราะส่วนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชน หากมีสัดส่วนของสตรีเข้าไปก็จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่เห็นด้วย หากจะกำหนดสัดส่วนเพศในการทำหน้าที่ระดับชาติ และยืนยันว่า คณะกมธ.ยกร่าง รับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งบทบัญญัติส่วนใหญ่ที่ยกร่างไปแล้ว มาจากข้อเสนอและการรับฟังความเห็นของสปช.