ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น! อนุทิน ย้ำเป้าหมาย ยอดเสียชีวิตต้องเป็น 0

28 มกราคม 2565, 18:15น.


          แนวทางและระยะเวลาการทำให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์ ทั้งอาการผู้ป่วย สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้ต้องการดูที่ตัวเลข แต่ต้องการลดความรุนแรงของโรคและสามารถอยู่กับมันได้ ‘ไม่อยากขี่ช้างจับตั๊กแตน’ หากมันไม่แรงก็ต้องรับมืออย่างเหมาะสม ไม่ใช่ทุ่มเทสรรพกำลังโดยที่ฤทธิ์ของมันยังอยู่เท่าเดิม ทุกอย่างจะได้ก้าวหน้าต่อไปได้ ขณะนี้ผู้ติดเชื้อคงที่ประมาณ 6-7 พันคนต่อวัน เตียงยังว่างอยู่ ไอซียูว่าง อุปกรณ์ครบ ยาวัคซีนพร้อม วันที่ 31 ม.ค.วัคซีนเด็ก 5-11 ปี ก็เริ่มฉีด ดังนั้นจำนวนกลุ่มที่แพร่เชื้อก็จะลดลงไปอีก ตอนนี้อาจจะเป็นกลุ่มเด็กที่แพร่เชื้อให้กับผู้ใหญ่ได้



          ส่วน COVID Free Country มีความหมายอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า หมายถึงประเทศที่ปลอดโควิดหรือควบคุมโควิดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ปลอดได้อย่างไร ก็ด้วยวัคซีน ยา ความร่วมมือของประชาชน Universal Prevention คำว่าโควิดฟรีไม่ได้หมายความว่าไม่มีในโลกนี้ แต่โควิดทำอะไรเราไม่ได้ ซึ่งเราพยายามทำให้ไปในทิศทางนั้นให้ได้ ไม่ได้ทำให้การติดเชื้อเป็น 0 แต่เป้าหมายการเสียชีวิตต้องเป็น 0 ซึ่ง 2 ปีที่แล้วก็ทำได้มาแล้ว เป็น 0 มาได้ถึง 6-7 เดือน ทั้งนี้ คลัสเตอร์ส่วนใหญ่ยังมาจากการกินข้าวร่วมกัน



          ส่วนการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.  ย้ำว่า เป็นการประกาศเกณฑ์เพื่อทำแผน โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 ระยะเวลา 6 เดือน และเฟสที่ 2 อีก 6 เดือน หากไม่ปัจจัยมาทำให้เกิดการระบาดเข้ามา คิดว่าภายใน 6 เดือนต้องพยายามทำให้ได้ จึงต้องวางแผนว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง ทั้งการฉีดวัคซีน มาตรการควบคุมโรค การปรับกฎหมายต่างๆ ต้องมีความสอดคล้อง รวมถึงการรักพยาบาล ก็ต้องให้เวลาเพื่อเป็นการบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าขณะนี้ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่เรามีเกณฑ์เพื่อนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้ สธ.ดำเนินการทำแผนการจัดการต่อไป ซึ่งวันนี้ครบ 2 ปีของการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคโควิด 19 (อีโอซี) ซึ่งประชุมครั้งแรกวันที่ 28 ม.ค. 2563 ประชุมมาแล้ว 411 ครั้ง ปีละมากกว่า 200 ครั้ง ฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่ดูจากการประชุมประจำ ดูความรุนแรงของโรค การมีภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ องค์ประกอบอื่นๆ และการรับรู้ของประชาชน เราคิดว่า ไม่ให้เกินปีที่จะควบคุมให้เป็นโรคประจำถิ่น ถ้าปล่อยไปเฉยๆ อาจจะใช้เวลามาก คือโรคลดลงแต่อาจมีการระบาดเป็นครั้งคราว



          ส่วนเรื่องการรักษาโรคไม่มีปัญหา ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าโรคอะไรก็รักษาให้อยู่แล้วระบบประกันสังคม และสวัสดิการราชการ มีทั้ง 3 ระบบหลักให้การดูแลอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่มีสิทธิอย่างต่างด้าว สธ.ก็ได้ของบประมาณมารองรับ ซึ่งที่ผ่านมาของบประมาณมารักษาโควิดต่างด้าวไร้สิทธิถึง 4 พันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็สนับสนุนดูแลเต็มที่



#โควิด19



#ยอดเสียชีวิตเป็น0

ข่าวทั้งหมด

X