กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แนะนำให้ญี่ปุ่นพิจารณาการขึ้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้จากการลงทุน ขณะที่ให้ลดการสนับสนุนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเห็นว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจควรดำเนินนโยบายการคลังที่มีความยืดหยุ่น มีการปรับขนาดและองค์ประกอบของการสนับสนุนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาทางระบาดวิทยาและเศรษฐกิจ
ไอเอ็มเอฟ ระบุด้วยว่า มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ (2565) และเมื่อการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะที่มีความมั่นคงแล้ว ญี่ปุ่นจะต้องกลับมาควบคุมหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินนโยบาย โดยอาจเป็นการเลือกที่จะลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับประชากรสูงอายุ ซึ่งไอเอ็มเอฟแนะนำให้เพิ่มอัตราภาษีการบริโภคจากร้อยละ 10 ในปัจจุบัน รวมถึงการขึ้นภาษีทรัพย์สินและภาษีเงินได้จากการลงทุน
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับปรับปรุง ไอเอ็มเอฟ คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 3.3 ในปีนี้ จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ของปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านอุปทานทั่วโลก และแม้ว่าจะมีอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงต่ำกว่าเป้าหมายระยะกลางของบีโอเจที่ร้อยละ 2
นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าภารกิจญี่ปุ่นของไอเอ็มเอฟ กล่าวในการบรรยายสรุปวันนี้ (28 ม.ค.) ว่าการปรับนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงเพราะทำให้มีช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินเยนในอนาคต
...
#ไอเอ็มเอฟ
#ญี่ปุ่น