ศาสตราจารย์ โยชิฮิโร คาวาโอกะ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และสถาบันวิจัยของสหรัฐฯ เปิดเผยผลวิจัยประสิทธิภาพการต้านเชื้อไวรัสโอไมครอนและไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ พิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ เจอร์นาล ออฟ เมดิซีน(New England Journal of Medicine)ของสหรัฐฯ ระบุว่า ยาแอนติบอดีแบบผสมบางตัว รวมทั้ง ยาโรนาพรีฟ(Ronapreve)จากบริษัท รีเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคอลส์ (Regeneron Pharmaceuticals) ของสหรัฐฯ ซึ่งวิจัยร่วมกับบริษัทโรช (Roche) จากสวิตเซอร์แลนด์ อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันโควิด-19สายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากลักษณะการกลายพันธุ์มากกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ทีมวิจัย ระบุว่า ยาโรนาพรีฟ ยังมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะป้องกันไวรัสเบตาและไวรัสแกมมา
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นมีมติในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาโรนาพรีฟ กับคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir) ชนิดรับประทานจากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค(Merck & Co)ของสหรัฐฯและยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาต้านไวรัสชนิดฉีด จากบริษัท กิลิแอด ไซเอนเซส ของสหรัฐฯมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะป้องกันไวรัสโอไมครอน
ขณะที่ยาแอนติบอดี โซโทรวิแมบ (Sotrovimab)ซึ่งผลิตโดยบริษัท แกล็กโซ สมิทไคลน์ (GSK)จากอังกฤษ ร่วมกับ บริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี(Vir Biotechnology) ของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโอไมครอนได้ในระดับหนึ่ง ยังถือว่ามีประสิทธิภาพที่ต่ำ แต่ก็ยังป้องกันไวรัสเดลตาเช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์ คาวาโอกะ และนักวิจัยอื่นๆระบุว่า แนะนำให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ชัดว่า ความจริง ยาต้านไวรัสเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 แล้ว มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโอไมครอน มากน้อยเพียงไร
#ญี่ปุ่น
#ผลวิจัยยาต้านไวรัสโควิด