สธ.แจงปีนี้ปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น-ไม่ต้องรอ WHO ประกาศ

27 มกราคม 2565, 15:27น.


          การตั้งเป้าหมายให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565



-โรคประจำถิ่น เป็นนิยามที่ไม่มีเกณฑ์ จึงให้กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่หลักกว้างๆ คือ



1.ไม่รุนแรงแต่ระบาดได้ อัตราเสียชีวิตยอมรับได้ ติดเชื้อเป็นระยะได้ เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน อัตราป่วย เสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 ราย หรือ 0.1% เพราะหากเกินก็จะต้องถือเป็นโรครุนแรง



2.คนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร คนต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก คนกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนโควิดเข็ม 2 ครบถ้วน มากกว่า 80% โดยเรามีเป้าหมายการฉีดวัคซีนแล้ว ตอนนี้ก็สะสมกว่า 137 ล้านโดส คิดเป็นเข็มที่ 2 ครอบคลุมประมาณ 70-75% ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับเข็มแรก ก็ขอให้มารับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มของตัวเอง สำหรับประชาชนที่รับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า ให้เข้ารับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ส่วนผู้ฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มให้ตามด้วยแอสตร้าฯ ขอให้ฉีดตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำ เพื่อการบริหารจัดการวัคซีนอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนการรักษาพยาบาลหลังมีการปรับให้โควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น รัฐบาลก็ดูแลผู้ติดเชื้อได้ตามสิทธิการรักษาที่แต่ละคนมี เช่น ประกันสังคม บัตรทอง 



3.ระบบดูแลรักษามีประสิทธิภาพ



          การพิจารณาต้องครบใน 3 ข้อหลักแล้วก็มีระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ก็จะเรียกว่าโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นของไทยได้ หากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง



          ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า  ไม่ต้องรอการประกาศขององค์การอนามัยโลก(WHO)  กระทรวงมีความพยายามบริหารสถานการณ์ให้ได้ภายในปีนี้ เรามีแนวทางเพื่อจะบริหาร ไม่เช่นนั้นก็ต้องรอให้มีการประกาศ ซึ่งก็จะไม่เป้าหมาย แต่หากเรามีหลักการแล้วดำเนินการให้ตรงเป้าหมาย เช่น 3 เดือนแรกจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วต่อไปทำอะไรบ้าง ส่วนเมื่อประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ยังควรมีการสวมหน้ากากอนามัย หรืออาจจะต้องสวมหน้ากากอนามัยในคนที่ป่วย แต่ทั้งหมดต้องรอการพิจารณา เพราะจะมีมาตรการตามมาอีกครั้ง



        ส่วนแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปี ให้ดำเนินการตามเกณฑ์ฉีดทั้งในโรงเรียน และเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ฉีดในโรงพยาบาล ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานมาว่ามีผู้ปกครองยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 70% โดยวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาวันที่ 26 ม.ค.65 จำนวน 3 แสนโดสแรก ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว หลังจากนี้ก็จะกระจายไปตามแผนงาน



#กระทรวงสาธารณสุข



#โรคประจำถิ่น



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X