กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานอ้างอิงบทความของ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยว่า ในช่วงที่เราต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ละเลยเรื่องของ ‘โรคไม่ติดต่อ’ (NCDs) ที่สร้างความสูญเสียต่อสังคมไทยมานาน และทำให้คนไทยเสียชีวิตไปมากกว่าโควิด-19 กว่าวันละ 1,000 ราย
แต่น่าแปลกที่กลับได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย
**โรคไม่ติดต่อ’ หรือ Noncommunicable Diseases (NCDs) ประกอบด้วย 4 โรคหลัก คือ
-โรคมะเร็ง
-โรคหัวใจและหลอดเลือด
-โรคเบาหวาน
-โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 4 แสนคนต่อปี กว่าครึ่งของผู้ที่เสียชีวิตจาก NCDs นั้น เป็นผู้ที่จากไปก่อนวัยอันควร (คือตั้งแต่อายุ 30-70 ปี) ทั้งๆ ที่ความสูญเสียนี้อาจป้องกันได้
**การเกิด NCDs สัมพันธ์กับกระแสที่เชี่ยวกรากของโลกาภิวัตน์ ลัทธิบริโภคนิยม อาหารจานด่วน และแคมเปญการตลาดอันดุดันของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำหวาน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, บุหรี่ รวมถึงการไม่มีกิจกรรมทางกาย, มลพิษทางอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประเทศไทยมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด (คิดเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก) และมีอัตราการบริโภคโซเดียมและน้ำตาลของประชากรสูงเป็น 2 เท่า และ 4 เท่า ของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน ตามลำดับ
นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ก็ยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและเจ็บป่วยอันดับต้นๆ ของคนไทย รวมถึงการที่เยาวชนไทย 9 ใน 10 คนยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ (อย่างน้อยควรอยู่ที่ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์) และ คนไทยร้อยละ 42 มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งสูงเป็นลำดับสองของประเทศในเอเชีย
**ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก NCDs มีมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โรคเหล่านี้ยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากในแต่ละวัน ประชากรไทยกว่า 74,000 คนไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากเจ็บป่วย เพิ่มความเสี่ยงต่อโควิด-19 ด้วย เพราะร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดในประเทศไทย มีโรคประจำตัวที่ส่วนใหญ่คือ NCDs นี่เอง
**ประเทศไทย ต้องการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDG) ในการที่จะลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก NCDs ลงหนึ่งในสามภายในปี 2573
**ไทยมีแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 2560-2565 และแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 2561-2573 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ยังเป็นแกนหลักในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งดำเนินการโดยงบสนับสนุนจากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้อยละ 2 ตั้งแต่ปี 2544 อีกทั้งประเทศไทยยังประกาศบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ และแสดงภาพคำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่, ในปี 2560 รัฐบาลไทยได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และขณะนี้กำลังพิจารณาการเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมสูงเกินไป เพิ่มเติม
#4โรคไม่ติดต่อ
CR:กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข