เหตุน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นขนถ่ายน้ำมัน พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองของบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผ่าน Facebook Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สั่งการให้ทีมนักวิจัยลงพื้นที่ พร้อมสั่งให้เรือวิจัย “เกษตรศาสตร์ 1” เตรียมพร้อมปฏิบัติการเพื่อศึกษาผลกระทบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพราะเราเคยมีประสบการณ์ตั้งแต่ครั้งเกาะเสม็ด ต่อเนื่องถึงการสำรวจผลกระทบจากน้ำมันในชายฝั่งต่างๆ ของไทย
การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วน
-อย่างแรกคือตรวจสอบข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ กระแสน้ำ คลื่นลม รวมทั้งการสำรวจชายฝั่งโดยใช้โดรน
-อย่างที่สองคือการใช้เรือเก็บตัวอย่างน้ำทะเล พื้นทะเล ฯลฯ ในบริเวณที่คาดว่าน้ำมันอาจผ่านเข้ามา
-อย่างที่สามคือการสำรวจข้อมูลตามชายหาดที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ
*การสำรวจชายหาดแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
-ศึกษา TPH (Total Petroleum Hydrocarbon) ทั้งในน้ำและในตะกอนทราย
เราเคยทำงานลักษณะนี้ร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รูปแบบของการวิเคราะห์ต้องวางจุดสำรวจตามชายหาดให้ครอบคลุม เจาะท่อลงทราย แบ่งทรายออกมาทีละชั้น ก่อนนำไปเข้าห้องวิเคราะห์
-อีกส่วนคือการศึกษา Bio-marker สิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวชี้บ่งตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ตามพื้นทราย (ปูทหาร หอยเสียบ โพลีคีต ฯลฯ)
การเก็บข้อมูลก่อนที่น้ำมันจะเข้ามาเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเทียบ before/after ถ้าน้ำมันไม่เข้าถึงฝั่ง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็มีข้อมูลไว้ ยังรวมถึงข้อมูลในทะเล คำว่ามีผลกระทบหรือไม่มีผลกระทบ มันไม่ใช่แค่ตาเห็นหรือพูดกัน วิทยาศาสตร์ต้องเก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อระบุถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้
ในส่วนของคณะประมง เราจะพยายามทำตรงนี้เท่าที่ได้ และจะประสานกับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกันทำงาน
#ท่อน้ำมันดิบรั่ว
CR:Facebook Thon Thamrongnawasawat