หลังพบน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดจากรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยเป็นท่อของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ศรชล กองทัพเรือได้ลงพื้นที่ทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง ติดตามสถานการณ์อย่างเร่งด่วน และได้รับรายงานจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม แจ้งแก้ไขปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลมีปริมาณ 128 ตัน (160,000 ลิตร) เบื้องต้น ได้ใช้สารเคมีชื่อ dispersant กำจัดมวลคราบน้ำมัน สามารถย่อยสลายไปแล้วร้อยละ 80 คงเหลือคราบน้ำมันอีกประมาณ 21 ตัน โดยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว เพื่อจะไม่ให้พัดพาเข้าเขตชายฝั่ง จ.ระยอง ซึ่งโดยภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน) ทั้งนี้ กรม ทช. ได้สั่งการให้นักวิชาการลงพื้นที่สำรวจประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากมีผลกระทบตกค้างสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์และได้ประสานกับกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เบื้องต้นจากการแถลงข่าวของบริษัทที่ระบุว่ามีน้ำมันรั่วประมาณ 2-4 แสนลิตรนั้น จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่พบเป็นฟิล์มบางๆ บนผิวน้ำประมาณ 2 หมื่นลิตร อาจจะไม่ใช่ข่าวดี แต่ไม่ใช่ข่าวที่เลวร้าย
หลังจากดูทิศทางการไหลของกระแสน้ำทะเลแล้ว น่าจะวางใจได้ว่าน้ำมันกว่า 2 หมื่นลิตรที่ลอยอยู่ไม่น่าจะพัดเข้าชายฝั่ง ซึ่งขั้นตอนที่ทำอยู่ขณะนี้ คือการใช้เครื่องบินโปรยสารเพื่อให้น้ำมันดิบจับตัวเป็นก้อนและจมลงทะเล ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ดังนั้น เราต้องไปศึกษาดูว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเลและปะการังอย่างไร โดยต้องดูในระยะยาว 3-5 ปี สิ่งเหล่านี้ทางบริษัทต้องมีกองทุนที่จะมารับผิดชอบในระยะยาวด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่กำจัดน้ำมันออกจากสายตาประชาชนแล้วปัญหาจะจบไป จึงได้กำชับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้คุยกับทางบริษัท และคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวด้วย
ส่วนจะใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดบริษัทในการฟื้นฟูได้หรือไม่ นายวราวุธ ระบุว่า ต้องศึกษารายละเอียดกฎหมายก่อน แต่แน่นอนว่าผลกระทบและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทางบริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้มีมาตรการ สามารถคำนวณได้ว่าค่าเสียหายออกมาเป็นเม็ดเงินได้เท่าไร
ขอยืนยันว่า เหตุการณ์นี้จะไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง เมื่อปี 2556 เพราะปีนั้นมีน้ำมันดิบที่รั่วไหลจำนวนมหาศาล มีน้ำมันลอยมาเป็นจำนวนมาก ขอให้พี่น้องชาวระยอง ชาวเกาะเสม็ด และชาวบ้านในบริเวณชายหาดแม่รำพึงสามารถวางใจได้
ด้านนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้กล่าวว่า เรื่องความผิดก็ว่าไปตามขั้นตอน ทำผิดก็ต้องดำเนินคดี พร้อมมอบหมายให้ทาง พล.ต.ต.วรา เวชชาภินันท์ ผบก.ภ.จว.ระยอง ให้ทำการสอบสวน และ ตรวจสอบหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมาย พร้อมฝากไปยังบริษัทเอกชนต่างๆ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ให้อยู่ในมาตรฐาน หากพบว่าชำรุดหรือเสื่อมสภาพควรเร่งแก้ไข ก่อนจะเกิดความเสียหายตามมา
#น้ำมันรั่ว
#กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง