นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงการเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ยืนยันว่า อาการข้างเคียงเด็กเล็กน้อยกว่าเด็กโต ไม่รุนแรง หายได้เอง บางคน มีไข้ หนาวสั่น ปวดบวมแดงตรงรอยฉีด เริ่มคิกออฟฉีดวันแรก 31 ม.ค.65 ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ จะเริ่มฉีดให้เด็ก 7กลุ่มโรคเสี่ยงก่อน
ในวันนี้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเดินทางมาถึงไทยแล้ว 3 แสนโดสและจะทยอยเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 จนครบ 3.5 ล้านโดส และเมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพเสร็จเรียบร้อยจะกระจายให้กับจุดฉีดปลายทางทั่วประเทศ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนในเด็กฝาสีส้ม 1ขวด ฉีดได้ 10 คน ปริมาณฉีด 0.2 มิลลิลิตร เก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศา เก็บได้สูงสุด 10 สัปดาห์ ย้ำเจ้าหน้าที่เมื่อผสมแล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง จะฉีดที่โรงพยาบาล และ ที่โรงเรียน เริ่มฉีดให้เด็กกลุ่มเสี่ยง 7 โรคก่อน เช่น เด็กที่เป็นโรคอ้วน ทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม อาการบกพร่องทางประสาท พัฒนาการช้า และเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม เริ่มฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ ให้หมอที่ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงวินิจฉัย
-การฉีดที่โรงเรียน กำหนดห่างกัน 8 สัปดาห์ เนื่องจากสร้างภูมิดี ผลข้างเคียงน้อย ขณะนี้การระบาดไม่รุนแรง และเป็นการฉีดเป็นกลุ่ม ดังนั้นการกำหนดเวลาต้องมีความชัดเจน
-เด็กป่วยโรคประจำตัว กำหนดฉีดที่โรงพยาบาล เนื่องจาก มีกุมารแพทย์วินิจฉัย จึงกำหนดช่วงเวลา 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้กุมารแพทย์และผู้ปกครอง วินิจฉัยและดูประวัติของคนไข้แต่ละคน
ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันเช่นกันว่า จากข้อมูล 98% ของเด็กที่ฉีด ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย ในช่วงอายุ 6-12 ปี จากที่ฉีดกว่า1แสนคน พบว่าเสียชีวิต 10 ราย ส่วนอายุ 1-6 ขวบ เสียชีวิต 5 ราย เท่าที่ดูทุกประเทศ ปัญหาน้อยมาก ไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีน มีแต่เสียชีวิตจากโรค
สาเหตุที่ต้องมีการฉีดให้กลุ่มเด็ก เนื่องจาก อาจจะมีอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆรุนแรงได้ ขณะที่ เด็กที่มีโรคประจำตัว หากติดเชื้ออาจเสียชีวิตได้ เมื่อสัปดาห์ก่อนจะเห็นว่ามีเด็กติดเชื้อแสดงว่าวัคซีนกันโอไมครอนไม่ได้มากเท่าเดลตา จึงขอให้ฉีดดีกว่าไม่ฉีด และไม่มีวัคซีนชนิดไหนที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ระยะห่างเข็มที่ 1และ 2 ที่ปลอดภัยที่สุดอยู่ที่ 8 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันขึ้นสูง หากเด็กที่มีโรคและกลัวว่าจะติดเชื้อ สามารถเลื่อนขึ้นมาที่ 4 สัปดาห์ได้ แต่ไม่ควรเร็วกว่านั้น ส่วนผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกฉีดเชื้อตาย อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ปกติมีจำนวน 5 ล้านคน ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยง 7 โรค มีประมาณ 9 แสนคน คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัดจะจัดสรรจำนวนวัคซีนให้เพียงพอกับจำนวนเด็ก และความพร้อมของบุคลากร กุมารแพทย์จะวินิจฉัยเด็กแต่ละกลุ่ม หากพบว่า ในวันที่นัดฉีดวัคซีนเด็กมีอาการป่วย มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย จะต้องชะลอการฉีดออกไปก่อน เช่นเดียวกับ เด็กที่มีโรคประจำตัว หากในวันนัดฉีด เด็กมีอาการรุนแรงขึ้น ก็ชะลอการฉีดเช่นกัน และหลังฉีดไปแล้ว 1 สัปดาห์ ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กๆไม่ให้ออกกำลังกาย การปีนป่าย การว่ายน้ำ
ส่วนอาการข้างเคียงที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจ พบว่ามีจริง แต่รักษาหายได้หมด แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ผู้ปกครองสังเกตว่าหากเด็กมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย จากข้อมูล พบว่า มักจะเกิดในวันที่สอง เข็มสอง แต่หากเจอในการฉีดเข็มแรก ก็ให้ไปหาหมอได้เลยที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนเด็กที่มีไข้สูง ซึม อาเจียน ก็ขอให้รีบไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลศูนย์ที่มีกุมารแพทย์ช่วยวินิจฉัย หากเจอกรณีที่รุนแรงก็สามารถส่งมาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
ในวันแรก 31 ม.ค.65 ที่จะเริ่มฉีด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์จะเริ่มฉีดให้เด็กในจำนวนไม่มาก เพื่อลดความแออัด หลังฉีดจะมี คิวอาร์โค้ดเพื่อให้ผู้ปกครองประเมินอาการหลังการฉีด
#กระทรวงสาธารณสุข
#วัคซีนเด็ก