*ชมคลิป พระมหามงกุฎ ก่อนถูกโจรกรรม

03 มีนาคม 2558, 18:15น.


หลังเกิดเหตุโจรกรรมที่พิพิธภัณฑ์จีน ภายในพระราชวังฟงแตนโบล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพบว่า "พระมหามงกุฎ" เครื่องมงคลราชบรรณาการของไทย สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทูลเกล้าฯ ถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส หายไปพร้อมกับ โบราณวัตถุอื่น ๆ อีก 15 รายการ  นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ได้รายงานนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว ซึ่งนายกฯบอกให้ติดตามความคืบหน้าด้วย อย่างไรก็ตามได้รับรายงานจากนักวิชาการ สำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร โดยอ้างอิงจากเอกสารจดหมายเหตุ เย็บเล่ม ของกระทรวงการต่างประเทศ ฝรั่งเศส เล่ม 2 ว่า โบราณวัตถุที่หายไปนั้น เรียกว่า “พระมหามงกุฎลงยาประดับพลอย เพชร มรกต ทับทิม” เป็นเครื่องมงคลบรรณาการที่ฝ่ายไทย มอบให้แด่จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ไม่ได้เรียกว่า”พระมหาพิชัยมงกุฎ”ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ และยังเก็บรักษาไว้ที่พระบรมหาราชวัง ดังนั้นขอทำความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย



 



จากการสอบถาม นายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสโดยได้รับการชี้แจงว่า เรื่องโบราณวัตถุถูกโจรกรรม เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากในฝรั่งเศส เพราะโดยทั่วไประบบรักษาความปลอดภัยในพิพิธภัณฑ์จะเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งทางการฝรั่งเศสรู้สึกตกใจและเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ทางฝรั่งเศสกำลังเร่งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ติดตามตรวจสอบอย่างหนัก เพื่อหาผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ให้ได้โดยเร็ว



ด้านสื่ออังกฤษรายงานว่า โจรใช้เก้าอี้และสิ่งของอื่นๆเพื่อทุบตู้กระจกที่แสดงงานศิลปะในโซนพิพิธภัณฑ์จีนของพระราชวัง พร้อมทั้งพ่นละอองหิมะจากถังดับเพลิงปกปิดร่องรอยของพวกเขา ด้านนายฌอง-ฟร็องซัวร์ เฮแบร์ต ผู้ดูแลพระราชวังกล่าวว่า น่าจะเป็นโจรมืออาชีพที่รู้จักพระราชวังและระบบป้องกันภัยอย่างดี



ด้าน นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การโจรกรรมพระมหามงกุฎ พร้อมด้วยโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์จีนครั้งนี้ เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อเพราะเหมือนถอดแบบมาจากภาพยนตร์ ซึ่งสามารถสันนิษฐานการโจรกรรมได้หลายสาเหตุ เมื่อพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้ว เห็นว่า พระมหามงกุฎ เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าและอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้แล้ว จึงยากที่จะนำมาซื้อขายทอดตลาด เพราะผิดกฎหมาย ยกเว้นจะมีใบสั่งให้โจรกรรม หรือ อาจจะมีการนำไปขายในตลาดมืดอีกต่อหนึ่ง เพื่อเป็นของชื่นชมของพวกนักสะสม หรือเศรษฐี  ดังนั้นจึงกำชับให้นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ รองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งกำกับดูแลสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 44 แห่ง ทั่วประเทศอย่างเข้มงวด



ในปีนี้ (2558) กรมศิลปากรได้กำหนดติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มกว่า 100 ตัว ในจุดสำคัญภายในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณ กว่า 17 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อดูแล ตรวจสอบ โดยเฉพาะการสอดส่องผู้ที่เข้ามาชมไม่ให้มีการซ่อนตัวอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ เพราะหลายครั้งที่เกิดการโจรกรรมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์มักเกิดจากการหลบซ่อนตัวในมุมอับตามที่ต่าง ๆ ส่วนภายนอกพิพิธภัณฑ์ให้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวทั้งหมด

X