หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ชื่อ ป. อันดามัน 2 ของบริษัท ไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมง จำกัด ซึ่งจอดทอดสมอและอับปางลง บริเวณห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล เมื่อวันที่ 22 ม.ค.65 ภายในเรือมีน้ำมันอยู่ประมาณ 5 แสนลิตร หรือประมาณ 415 ตัน
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการตรวจสอบพิกัดจุดเกิดเหตุ พบมีแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ 2 แหล่ง ในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ แหล่งปะการัง บริเวณเกาะง่ามใหญ่ ไปทางทิศตะวันตกของจุดเกิดเหตุ ประมาณ 25 กิโลเมตร เนื้อที่ 37 ไร่ รวมถึง บริเวณอำเภอปะทิว เกาะร้านเป็ด เกาะร้านไก่ จังหวัดชุมพร และแหล่งหญ้าทะเลบริเวณอ่าวบ่อเมา และอ่าวทุ่งมหา ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 32 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 114 ไร่
สำนักงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พร้อมด้วยศูนย์วิจัยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง นำเรือ ทช.218 ติดตาม ตรวจสอบคราบน้ำมันที่ไหลออกมาจากเรือ ป.อันดามัน 2 ที่อับปางกลางทะเลชุมพร บริเวณแหล่งหญ้าทะเลและแนวปะการัง อ.ปะทิว อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งไม่พบคราบน้ำมันในบริเวณดังกล่าว พบเพียงแพลงก์ตอนสะพรั่งจากชนิดไดโนแฟลกเจลเลต ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนพืชและมีสีเขียว กระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนการติดตามเฝ้าระวังบริเวณที่เรืออับปาง พบคราบน้ำมันลอยเป็นฟิล์มกระจายกว้างประมาณ 100 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ไหลขึ้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างออกไปในระยะ 1.5 กม. 2.0 กม. และ 3.0 กม. ไม่พบคราบน้ำมัน สันนิษฐานว่าจะถูกกระแสน้ำกระแสลมพัดทำให้ระเหยหายไป
นอกจากนี้ ขึ้นไปร่วมสังเกตการณ์บนเรือหลวงบางระจัน ซึ่งเป็นเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง ใช้เครื่องมือ SONAR ร่วมกับยาน seafox-i มีขีดความสามารถในการค้นหา พิสูจน์ทราบ บันทึกภาพระยะใกล้ กองทัพเรือนำมาปรับใช้ในภารกิจนี้ การปฏิบัติงานตรวจพบตัวเรือ ป.อันดามัน 2 จมที่ระดับความลึก 50 เมตร หันหัวเรือไปทางทิศตะวันตก ท้ายเรือไปทางทิศตะวันออก ตะแคงด้านซ้ายตัวเรือขึ้น ขั้นตอนต่อไปจะส่งเจ้าหน้าที่ถอดทำลายอมภัณฑ์ดำน้ำลงไปยังตัวเรือเพื่อพิสูจน์ทราบเก็บรายละเอียดให้มีข้อมูลชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นรวบรวมข้อมูลเสนอกองทัพเรือเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป การประเมินสถานการณ์ ขณะนี้ไม่พบคราบน้ำมันกระจายไปสู่แหล่งหญ้าทะเลและแนวปะการังในเขต จ.ชุมพร
พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 40 ชั่วโมง ที่เรือลำดังกล่าวจมลง ศูนย์ปฏิบัติกองทัพเรือ โดยศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ได้ส่งอากาศยานเข้าทำการสำรวจบริเวณโดยรอบพื้นที่ พบว่ามีคราบน้ำมันกระจายเป็นวงกว้างในทะเล 4 จุด รอบพื้นที่เรือจม มีสีรุ้ง และ มีกลิ่นแรง โดยยังคงเห็นการรั่วไหลขึ้นมาเรื่อยๆ และมีทิศทางขึ้นไปทางเหนือ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ จากจุดที่เรือจมขนานไปกับชายฝั่ง ห่างจากชายฝั่ง 15 ไมล์ทะเล มีความกว้างโดยประมาณ 200 หลา
จากการส่งเรือหลวงบางระจัน เข้าพื้นที่ โดยใช้ Sonar ค้นหาตำแหน่งเรือจม ที่ระดับความลึก 46 เมตร พบว่า ลักษณะการจม เรือวางตัว ในแนวตะวันออก ตะวันตก หัวเรือเอียงจากพื้น ประมาณ 20 องศา จากนั้นได้ส่งยานสำรวจใต้น้ำ Seafox I (Inspection Vehicle) และ นักประดาน้ำ ลงสำรวจ ในตำแหน่งเรือจม โดยใช้เรือวีนัสเป็นฐานการดำ โดยในส่วนบนผิวน้ำ ได้ทำการทดลองฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อเร่งกระบวนการแตกสลายของน้ำมันดีเซลที่รั่วไหลโดยใช้เรือหลวงบางระจันและหลวงสงขลาดำเนินการ
โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า น้ำมันที่รั่วไหลออกมา มีการกระจายตัว แตกตัว เข้าสู่กระบวนการระเหย โดยจากภาพจะเห็นการจับตัวกับแพลงก์ตอน ไดโนแฟลกเจลเลต หรือ Noctiluca ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนชนิดหนึ่งจาก 32 ชนิด เป็นสัตว์เซลล์เดียว มีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัย เช่น มีฝนตกหนัก คลื่นลมแรงทำให้มีปริมาณธาตุอาหาร(Nutrient)เพิ่มมากขึ้นและมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอน โดยหากมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้เกิดภาวะน้ำมีออกซิเจนน้อย(Hypoxia)ในชั้นน้ำ นำไปสู่สาเหตุน้ำไม่มีออกซิเจนและทำให้สัตว์น้ำตายได้
#เรือน้ำมันอับปาง
CR:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , กองทัพเรือ Royal Thai Navy