ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล อัปเดต "สถานการณ์ของสายพันธุ์ Omicron จากทั่วโลก 2 เดือนหลังการเริ่มแพร่ระบาด" ผ่านระบบออนไลน์ช่องทางเว็บไซต์ IPTV และเฟซบุ๊กไลฟ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า สถานการณ์การระบาดของโลกเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่พบว่า ทวีปเอเชีย อย่างประเทศอินเดีย เดิมเดลตาใหม่ติดเชื้อ เสียชีวิตสูง หลังจากนั้นเริ่มสงบลง จนกระทั่งเจอโอไมครอน โดยพบผู้ป่วยวันละ 2-3 แสนคน อยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ในตัวเลข 400-500 คนต่อวัน ซึ่งประชากรประเทศอินเดียมีมากกว่า 1.4 พันล้านคน มีการฉีดวัคซีนแล้ว 1.6 พันล้านโดส ได้รับวัคซีน 1 โดสอยู่ที่ 67.3% ของประชากร ได้รับวัคซีน 2 โดสที่ 49.4% และ 0.6% ได้รับเข็มกระตุ้น
ดังนั้น อัตราการติดเชื้อของอินเดียจะวิ่งอยู่ระยะหนึ่ง และจะเลยยอดที่เคยติดเชื้อสมัยเดลตา สิ่งที่ต้องระวัง คือ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์หนึ่งจากอินเดียผ่านมาทางพม่า มาไทยไม่เกิน 2 สัปดาห์เข้ามาประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ต้องระวังว่า จากอินเดียเข้ามาพม่า และเข้ามาไทย ใช้เวลาไม่นาน จึงต้องระวังมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการเดลตาเราจัดการได้ดี จากวันละ 2 หมื่นคนต่อวันก็เริ่มลง จากนั้นก็เจอโอไมครอน ขณะนี้ป่วยอยู่ประมาณ 7-8 พันคนต่อวันเป็นสัปดาห์แล้ว และเสียชีวิตยังตัวเลข 2 หลัก ส่วนใหญ่สิบกว่าๆ เราฉีดวัคซีนแล้ว 111 ล้านโดสจากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 15.8% ซึ่งจริงๆไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นในภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19
ส่วนความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้น พบว่า โอไมครอน หลบภูมิคุ้มกันเรามากกว่าเดลตา ขณะเดียวกันเราไม่สามารถแยกอาการชัดเจนว่า แบบไหนโอไมครอนหรือเดลตา แต่แยกได้หลักๆ บ้าง คือ น้ำมูกไหล ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้รส พบไม่บ่อยเหมือนเดลตา แต่จริงๆ อาการเหล่านี้สงสัยว่าป่วยโควิดก่อน ไม่ต้องคิดว่าสายพันธุ์อะไร ส่วนสถานการณ์ภายในเดือนนี้คาดว่าจะเป็นโอไมครอนทั้งประเทศ
ส่วนการศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อโอไมครอน มักติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลตา ทำให้อาการไม่ค่อยรุนแรง แต่แพร่ง่าย แพร่เร็ว เพราะจามง่ายขึ้นได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาจาก Imperial College ในกรุงลอนดอนพบว่า การจะมีภูมิฯช่วยลดการติดเชื้อ หรือติดเชื้อที่มีอาการมากจำเป็นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ผลจากการแพร่ระบาดเร็วของโอไมครอน แต่ก่อให้เกิดอาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด จากผลรวมของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและหายจากการติดเชื้อ แต่อย่าไปหวังติดเชื้อเอง เพราะไม่คุ้มกัน ส่วนวิถีการใช้ชีวิตแม้จะไม่กลับมาเป็นปกติ แต่จะเป็นการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ คือ การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่ และจะเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น เดิมทำงานที่สถานที่ทำงาน แต่เมื่อมีโควิดได้ทำงานที่บ้าน อาศัยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ล้างมือบ่อย อย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม รักษาสิ่งดีๆเหล่านี้ไว้ ทำจนเป็นปกติรูปแบบใหม่ การรักษาทางไกลก็จะเข้ามากขึ้น
#โควิด19
#โอไมครอน