ซ่อมเสร็จพุธนี้! สะพานพระราม6ทรุด หยุดวิ่งรถไฟสายใต้ชั่วคราว

24 มกราคม 2565, 21:28น.


          กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ ตรวจสอบกรณีสะพานพระราม 6 ทรุดตัว และส่งผลกระทบในการให้บริการเดินรถไฟสายใต้ โดยจากการตรวจสอบพบว่า เหตุที่สะพานรถไฟมีการทรุดตัวนั้น เนื่องจากขั้นตอนการเปลี่ยน Rivet (หมุดย้ำ) ของเดิมไปเป็นน็อตกำลังสูง บริเวณจุดรอยต่อของชิ้นส่วน (member) แนวเฉียงที่รอยต่อ (joint) ขอบริมด้านบน ของสะพานเหล็กตัวที่สามจากฝั่งกรุงเทพมหานคร ทิศทางขาเข้ากรุงเทพมหานคร  เบื้องต้นว่า ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนหมุดย้ำ อาจมีน้ำหนักจากการเดินรถไฟ ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชิ้นส่วนสะพาน (member) ส่งผลให้ระดับสันรางเกิดการเคลื่อนที่ จึงจำเป็นต้องหยุดการเดินรถไฟสายใต้ชั่วคราวตั้งแต่เวลา 10.30น. ของวันนี้ (24 มกราคม 2565) เพื่อความปลอดภัยต่อการเดินรถ



          โดย รฟท.อยู่ระหว่างตรวจสอบทางเทคนิคและปรับปรุงโครงสร้างสะพานให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และจากการประสาน รฟท. ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถ ตั้งแต่วันพุธที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป



          สำหรับวันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประสานงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารจากสถานีกรุงเทพไปยังสถานีบางบำหรุ โดยขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31 กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ ขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก และขบวนรถด่วนที่ 83 กรุงเทพ-ตรัง ไปออกต้นทางที่สถานีบางบำหรุ และ งดให้บริการขบวนรถสายใต้ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถชานเมืองที่ 355 กรุงเทพ-สุพรรณบุรี และขบวนรถด่วนที่ 85 กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช โดยผู้โดยสารติดต่อขอคืนตั๋วโดยสารได้เต็มราคา





          ก่อนหน้านี้ นายสถานีชุมทางบางซื่อได้รับแจ้งว่าพบโครงสร้างกลางสะพานพระราม 6 ทรุดตัว ขบวนรถไฟไม่สามารถผ่านได้ จึงได้ปิดทางขึ้นและทางล่อง ระหว่างสถานีชุมทางบางซื่อ ถึงสถานีบางบำหรุ ตั้งแต่เวลา 10.30 น.เป็นต้นไป ส่งผลกระทบทำให้ขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 10.40 น. ล่าช้าไป 76 นาที ต้องขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์



           เช่นเดียวกับขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32 ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 12.00 น. ล่าช้าไป 72 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ ส่วนขบวนรถเร็วที่ 172 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 13.22 น. ล่าช้าไป 169 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ สำหรับขบวนรถขาออก จะใช้ต้นทางสถานีบางบำหรุ ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์จากสถานีกรุงเทพฯ-สามเสน-ชุมทางบางซื่อ มี 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถเร็วที่ 171 กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก, ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 31 กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ และขบวนรถด่วนที่ 83 กรุงเทพฯ-ตรัง





          สำหรับสะพานพระราม 6 เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2465 เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อกัน โดยให้บริษัท เล เอตาบริดจ์มองต์ ไตเต ประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้รับเหมา สร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 2469 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าสะพานพระราม 6 และโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีเปิดสะพานให้ขบวนรถไฟเดินผ่านข้ามเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 1 ม.ค. 2470



        ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 ได้ถูกกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษทิ้งระเบิดอย่างหนัก ในที่สุดช่วงกลางสะพานขาดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2488 ก่อนจะซ่อมแซมใหม่เมื่อปี 2493 โดยบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ และบริษัทคริสเตียนนี แอนด์ นีลเส็น (ไทย) จำกัด จากประเทศเดนมาร์ก แล้วเสร็จเมื่อปี 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานพระราม 6 หลังจากซ่อมแซมแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2496 หรือเมื่อ 69 ปีก่อน



          สะพานสร้างตามแบบ Cantilever ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 5 ช่วง ส่วนหนึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กให้รถยนต์ทุกชนิดผ่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟ พร้อมทางเดินเท้า 2 ด้าน ตัวสะพานมีความยาว 442.08 เมตร กว้าง 10 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 10 เมตร เรือขนาดธรรมดาสามารถลอดผ่านได้ เมื่อมีการก่อสร้างสะพานพระราม 7 ขึ้นเป็นสะพานคู่ขนาน เปิดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2535 การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงปิดการจราจรส่วนที่เป็นถนน แล้วนำส่วนที่เคยเป็นถนนแปรสภาพเป็นทางรถไฟ



#สะพานพระราม6เคลื่อน



#หยุดวิ่งสายใต้ชั่วคราว

ข่าวทั้งหมด

X