WHO คาดโอไมครอนระบาดหนักที่สุดในยุโรป มี.ค.นี้

24 มกราคม 2565, 12:15น.


          ผลการศึกษาส่วนใหญ่ ชี้ว่า ไวรัสโอไมครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลตา แต่ในภาพรวมอาการป่วยจะไม่ทรุดหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะคนไข้ที่รับวัคซีนแล้ว คนส่วนใหญ่เริ่มมีความหวังว่าโรคโควิด-19 เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเป็นโรคระบาด(pandemic) มาเป็นโรคประจำถิ่น (endemic illness) ที่สามารถรักษาให้หายป่วยได้ เช่น ไข้หวัดตามฤดูกาล



          นายฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก(WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป คาดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนในปัจจุบันจะถึงจุดพีค หรือระบาดหนักที่สุด ร้อยละ 60 ของประชากรในยุโรปติดไวรัสโอไมครอนภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้น การแพร่ระบาดจะค่อยๆลดลงจนไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เป็นผลจากคนส่วนใหญ่รับวัคซีนแล้ว หรือ เกิดจากภูมิคุ้มกันหลังหายป่วย



          นายคลูจ กล่าวว่า จากนั้น โรคโควิด-19 อาจจะกลับมาแพร่ระบาดอีกในช่วงฤดูหนาวปลายปีนี้ พร้อมกล่าวถึงการกระจายวัคซีนของยุโรปว่า ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ อัตราการกระจายวัคซีนของยุโรปเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 25-95 ของประชากร ประเทศที่มีอัตราการกระจายวัคซีนต่ำ มีการแพร่ระบาดรุนแรงกว่า มีคนไข้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าประเทศที่มีอัตราการกระจายวัคซีนสูง



          นายคลูจ แนะนำให้รัฐสมาชิกอียูใช้วิธีปรับตัวอยู่กับโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เปิดเศรษฐกิจและโรงเรียนตามปกติ ควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยมากจนกระทั่งโรงพยาบาลขาดแคลนเตียงคนไข้ แทนที่จะใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนมากเกินไป



          ในส่วนของประชาชน นายคลูจ กล่าวว่า ประชาชนต้องรับผิดชอบต่อตนเองและชุมชนเช่นเดียวกัน เช่น ถ้ารู้สึกป่วย ไม่สบาย แนะนำให้อยู่บ้าน ตรวจโรคแบบตรวจด้วยตนเอง ถ้าผลตรวจโรคเป็นบวก ขอให้กักตนเองอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาด



          ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ นพ.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางรายการ ดีส วีค (This Week)ของสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐฯเมื่อวานนี้ แสดงความเห็นในทำนองเดียวกัน ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯในระยะหลังๆมานี้ เริ่มมีแนวโน้มลดลง กล่าวถึง สถานการณ์ในสหรัฐฯในปัจจุบันว่า เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขผู้ป่วยเริ่มลดลง แต่นพ.เฟาซี เตือนทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งวางใจในเรื่องนี้ เนื่องจาก การระบาดระลอกใหม่อาจจะเกิดขึ้น



#WHO



#โอไมครอน

ข่าวทั้งหมด

X