กองทัพเรือเร่งตรวจสอบคราบน้ำมันในอ่าวไทย หลังเรือบรรทุกน้ำมันอับปาง

23 มกราคม 2565, 12:38น.


          พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) เวลา 19.15 น. ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ได้รับแจ้งว่า เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ชื่อ ป. อันดามัน 2 ซึ่งจอดทอดสมอและอับปางลง บริเวณ แลต.10 องศา 35.06 ลิปดา น. ลอง.99 องศา 38.35 ลิปดา อ. (ระยะห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล) ภายในเรือมีน้ำมันอยู่ประมาณ 500,000 ลิตร ซึ่ง พลเรือโท พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้สั่งการให้ เรือ ต. 114 พร้อมอากาศยานจากกองการบินทหารเรือ ออกปฏิบัติการในการเข้าพื้นที่และวางทุ่นป้องกันอันตรายจากเรือ ที่ใช้เส้นทางคมนาคมในทะเลรวมถึงระมัดระวังน้ำมันที่อาจจะรั่วไหลเพิ่มเติมออกมา  ตลอดจนตรวจสอบว่าคราบน้ำมันทิศทางการไหลเคลื่อนที่และขยายตัวไปในทิศทางที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งหรือไม่ รวมถึงสั่งการให้หน่วยต่างๆของกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการขจัดคราบน้ำมัน พร้อมทั้งประสานกรมเจ้าท่าในการดำเนินการจำกัดพื้นที่ของน้ำมันที่รั่วไหลและพร้อมดำเนินการกู้เรือต่อไป (ตามระดับของ Teir ) และประสานงานกับศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงทางทะเล จังหวัดชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแจ้งเตือนผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมัน 


          เรือ ปออันดามัน 2 มีนายเรือและลูกเรือ รวม 6 คน ทั้งหมดปลอดภัย โดยได้รับการช่วยเหลือจากเรือวีนัส 21 ซึ่งเป็นเรือที่จ่ายน้ำมันให้ก่อนที่เรือจะจม ขณะนี้มีการประสานกับ บริษัทแหลมทองค้าน้ำมันประมงไทยจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือให้รับทราบรวมถึงเตรียมยาสลายคราบน้ำมันกรณีเกิดน้ำมันรั่วไหลพร้อมทุ่นรับน้ำมันบริเวณเรือจมรวมถึงทำการกู้เรือต่อไป 


          จากการลาดตระเวณของอากาศยานพบคราบน้ำมันลอยเป็นแนวยาวประมาณ 10 กิโลเมตรโดยมีความกว้างประมาณ 100-200 เมตร เคลื่อนที่ขึ้นไปทางทิศเหนือ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ระดับความรุนแรงอยู่ในระดับที่ 1 (Tier 1) ซึ่งหากพบว่าการรั่วไหลของน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นระดับที่ 2 (TEIR 2) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือจะสั่งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการขจัดคราบน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 ต่อไป


          ล่าสุด พบว่า คราบน้ำมันที่กระจายตัวมีลักษณะเป็นฟิล์มน้ำมันบางๆ การปล่อยให้สลายตัวตามธรรมชาติ จะมีความเหมาะสม เนื่องจากชนิดของน้ำมันที่รั่วไหลสามารถสลายตัวเองได้ดีในธรรมชาติ แต่ยังต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบของคราบน้ำมันว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงในลักษณะใดบ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป โดยจะเป็นการกักและเก็บทำได้โดยใช้ทุ่นน้ำมัน (Boom) จำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของน้ำมันเอาไว้ ตอนที่กู้เรือ สำหรับใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันเป็นวิธีการที่ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งต้องทำภายใน 24 ชม.เมื่อเกิดเหตุจากชนิดของน้ำมันในครั้งนี้คือ ดีเซล ซึ่งจัดเป็นน้ำมันเบา  


          กองทัพเรือมีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพล ในการขจัดคราบน้ำมันในทะเลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของกองทัพเรือ เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลให้คงไว้อย่างยั่งยืน


.....


#กองทัพเรือ


#เรือบรรทุกน้ำมัน


#อ่าวไทย
ข่าวทั้งหมด

X