สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า คณะนักวิจัยจากบราซิลและมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์เดอะแลนเซต (The Lancet) ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซิโนแวคจากจีน ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ที่ต่างชนิดกัน เพื่อเพิ่มการป้องกันโควิดโอไมครอน
โดยในการศึกษาที่บราซิล ในกลุ่มตัวอย่าง 1,240 คน ซึ่งมีอายุมากกว่า 18 ปี ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแรก เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว จากนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อรับวัคซีนเข็มที่ 3 คือมีทั้งกลุ่มที่ได้รับซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย, ไฟเซอร์ ที่เป็น mRNA , แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่เป็นไวรัลแวกเตอร์ ซึ่งพบว่าทั้งหมดมีระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น
แต่หลังจากการรับวัคซีนเข็มที่ 3 ผ่านไป 28 วันผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่เป็นของไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังมีระดับภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการป้องกันโควิดเดลตาและโอไมครอน งานวิจัยจากบราซิลในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับการวิจัยจากที่อื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ใช้วัคซีนที่ต่างชนิดกันเป็นเข็มกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่า วัคซีนซิโนแวคสามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ คือข่าวดีของบริษัทซิโนแวคไบโอเทค และประเทศกำลังพัฒนา โดยเมื่อปลายปีที่แล้วบริษัทเปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่รายงานข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโควิดโอไมครอน แม้จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ตาม
ดร. ซู แอน คอสตา คลีเมนส์ ผู้อำนวยการกลุ่มวัคซีนออกซฟอร์ดในบราซิล กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง สามารถจัดเตรียมสูตรวัคซีน และวัคซีนเข็มกระตุ้นได้อย่างเหมาะสม โดยการใช้วัคซีนของไฟเซอร์สามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้มากที่สุดคือ 152 เท่า ทั้งย้ำว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดปลอดภัย แม้ว่าจะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 2 คนและ ไฟเซอร์ 2 คนมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แต่เมื่อได้รับการรักษาทั้งหมดก็หายเป็นปกติ
...
#บราซิล
#วัคซีนบูสเตอร์