การประชุมศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นว่า ยังไม่มีความคิดปรับครม. หรือยุบสภา และกฎหมายยังไม่เรียบร้อยด้วย อย่าเอาทุกอย่างมาตีกัน ผมรักใครชอบใครก็พูดไม่ได้ หลายอย่างต้องเก็บไว้กับตัว ในฐานะเป็นนายกฯ เป็นหัวหน้าในการบริหารราชการแผ่นดิน มีความรับผิดชอบ และได้เข้ามาตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มีการเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง จัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อขึ้นมาผ่านการพิจารณาของส.ว. ส่วนที่มีการบิดเบือนว่าส.ว.สืบทอดอำนาจให้นั้น ถ้าพรรคที่เสนอชื่อมีเสียงเพียงพอ ส.ว.ก็คงไม่ขัดข้อง ส่วนตัวพร้อมยอมรับในกติกาทุกอย่าง ขอให้ยอมรับ วันนี้อย่าเอาการเมืองมาพันทุกเรื่อง
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประชุมพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้ไปประชุมกับเขาด้วย เป็นเรื่องหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ทุกคนอยากทำให้สถานการณ์เป็นปกติโดยเร็วที่สุด ขึ้นอยู่กับประชาชน ทุกคนต้องมองว่าใครเป็นอะไรอย่างไร ให้ช่วยกันติดตามพฤติกรรมของแต่ละคนด้วย ตนไม่อาจกล่าวว่าใครดีหรือไม่ดี ให้ประชาชนตรวจสอบคัดกรองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณประชาชนส่วนใหญ่เชื่อถือเชื่อมั่นใจในการทำงาน ผมวางอนาคตไว้พอสมควรในการทำงาน หลายเรื่องเป็นปัญหาหมักหมม ทำให้การทำงานใหม่ๆ ออกมาช้า เห็นใจเจ้าหน้าที่ ติดขัดตรงไหน นายกฯดูแลได้ ผมไม่เคยว่างเว้น ช่วงนี้ยังมีการวางแผนทำงานให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก
ส่วนได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพปชร. หรือยัง ส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบแล้วเดินออกจากวงสัมภาษณ์ด้วยสีหน้าเนือยๆ ก่อนเปรยว่า “ส่งความรักความปรารถนาดีให้กันและเคารพซึ่งกันและกัน”
เรียกร้องเรื่องร้ายแรง! ปมขับธรรมนัสพร้อมพวก ออกจากพลังประชารัฐ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงถึงการประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พปชร.เมื่อคืนวันที่ 19 ม.ค. ว่า การประชุมเกิดขึ้นเนื่องจากมี ส.ส.นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีการเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ซึ่งหัวหน้าพรรคเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวสร้างปัญหามาก เกรงจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ หัวหน้าพรรคจึงนัดประชุม กก.บห.และสมาชิกพรรค โดยเรื่องที่ ร.อ.ธรรมนัส เรียกร้อง โดยเห็นว่า เป็นเรื่องที่พรรคไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถ้าทำตาม จะเกิดความเสียหายของพรรคทั้งระบบ ดังนั้น เพื่อรักษาหลักการของพปชร.ทั้งเอกภาพและเสถียรภาพ อุดมการณ์ของพรรค กก.บห.เห็นว่ารับไม่ได้ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าถ้าไม่รับข้อเสนอจะมีปัญหาแน่ในการบริหารพรรค จึงทำให้พรรคเห็นว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรงที่กระทบกับเสถียรภาพและเอกภาพของ พปชร. กก.บห.จึงเห็นว่าเข้ากับข้อบังคับข้อที่ 54(5) มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น พรรคจำเป็นต้องมีมติให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส รวม 21 คน น่าจะต้องพ้นจากพรรค เพื่อรักษาส่วนใหญ่ขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ของพรรค
ขั้นตอนต่อไป พรรคจะจัดเตรียมเอกสารและนำเสนอ กกต. ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับและมีผลในวันที่มีมติ ทั้งนี้ ทั้ง 21 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดตาม รธน.มาตรา 101(9) ขณะนี้สมาชิกภาพ ส.ส.ยังคงอยู่ เว้นแต่พ้น 30 วันแล้วหาพรรคสังกัดไม่ได้