พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19(ศบค.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร และการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 โดยลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัด เหลือ 44 จังหวัด และเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด ขณะเดียวกัน ให้คงพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 16 อีก 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2565
มติที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. เปิดเผยว่า การผ่อนคลายหลังการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีดังนี้
1.มาตรการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ภายหลังที่มีการควบคุม จำกัดเวลาการบริโภคสุราในร้านอาหาร ทำให้การระบาดลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการแจ้งขอขยายเวลาการดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน จึงมีการพิจารณาให้ปรับมาตรการ
-ขยายเวลาการดื่มในร้านจากเดิมให้ดื่มถึงเวลา 21.00 น. เป็น เวลา 23.00 น.
-ให้จำกัดประเภทร้านอาหาร ต้องผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop Covid-19 เท่านั้น และมาตรการ Covid-19 Free Setting อย่างเคร่งครัด หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องมีความเข้มข้น หากพบละเมิดหย่อนยาน หน่วยงานต้องรับผิดชอบ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
2.มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและการพิจารณาของหน่วยงาน ไม่ขยายระยะเวลาจากที่กำหนดให้ทำงานที่บ้านจนถึงวันที่ 31 ม.ค.65
3.มาตรการลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้เหลือกักตัว 7 วันที่บ้าน ตรวจสอบอาการป่วยของตนเองทุกวัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการอีก 3 วัน สามารถออกนอกพื้นที่ได้ ไปทำงานได้ แต่ให้เลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือเข้าพื้นที่แออัด ป้องกันตัวเองสูงสุด ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
4.การปรับมาตรการป้องกันโรค สำหรับการเดินทางเข้าประเทศ พิจารณาให้มีการปรับมาตรการสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยต้องมี Thailand Pass มีประกันวงเงินคุ้มครองมากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ มีประวัติรับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วน ตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ผลต้องเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงราชอาณาจักรแล้ว จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
-ระบบไม่กักตัว (Test and Go) ให้มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พักกับโรงแรมที่มีคู่สัญญากับโรงพยาบาล (รพ.) จำนวน 2 วัน เพื่อรอผลตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และวันที่ 5 ของการเดินทาง ซึ่งผู้เดินทางจะต้องจ่ายค่าตรวจเองทั้งหมด เริ่มลงทะเบียน 1 ก.พ.65 ให้เข้ามาได้ทุกประเทศ มีระบบติดตามตัว และมีระบบเตือนในการตรวจเช็ควันที่ 5 เดินทางเข้าไทยได้ทุกประเทศ จัดระบบการตรวจสอบและตรวจหาเชื้อให้ครบทั้งสองครั้ง โดยต้องอยู่รอในที่พัก/สถานที่ที่กำหนด จนได้รับผลการตรวจ กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุม ผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบการใช้จ่ายของ Hospital /Hospitel/Hotel Isolation
-การเข้าประเทศในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หรือแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ให้มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พักกับโรงแรมที่กำหนด เป็นเวลา 7 วัน โดยรวมค่าตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้งแล้ว และเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เพิ่ม ที่จ.ชลบุรี เฉพาะที่ อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและต.บางเสร่ ส่วนที่ จ.ตราด ที่เกาะช้าง เป็นการเตรียมรองรับระบบ Test and Go
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนที่ร่วมมือกัน ลักษณะการทำงานของศบค.ต้องมีแผนล่วงหน้า หากแผนมีปัญหาต้องมีแผนเผชิญเหตุ ขอเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะบทบาทฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หากมีการกระทำผิด จะต้องมีการปิดกิจการ หรือ มีบทลงโทษต้องให้มีความเข้มข้น เข้มแข็ง หากไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาบทลงโทษคนที่ย่อหย่อน นายกฯ เน้นเรื่องนี้หลายรอบในที่ประชุมศบค.ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่ต้องขอความร่วมมือ นายกฯ อยากให้บูรณาการสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนให้มีความพร้อม ลดการรอคอยสาย เพื่อให้การช่วยเหลือประสานงานเร็วขึ้น
ส่วนมาตรการในการติดตามแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงทำงานหนักมาก อยากให้เปลี่ยนจากภาระ เป็นพลัง เป็นแรงงานที่ใช้ประโยชน์ ด้วยการยื่นเรื่องทำให้ถูกกฎหมาย นายกฯ มอบให้กระทรวงแรงงาน ดูจำนวนแรงงานที่เข้ามาให้เหมาะสม มีมาตรการในการติดตาม และหากมีแอปพลิเคชันติดตามเพื่อควบคุมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี
#คลายล็อก
#โควิด19ไทย