พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ โดยกระทรวงคมนาคมเสนออนุมัติโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน วงเงินกู้ 4 หมื่นล้านบาท
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์การยกหนี้ให้เกษตรกรที่ติดอยู่ในกองทุนต่างๆ ของกระทรวง เกษตรฯ วงเงิน 9,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในนี้ ทั้งนี้ในประเด็นที่ระบุว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปีจะได้รับการยกหนี้ มีความเห็นว่า จะมีผลผูกพันให้กองทุนอื่นหรือโครงการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน ดังนั้น คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับการยกหนี้ให้และตัดเป็นหนี้สูญ จึงได้แก่ เป็นโครงการที่รัฐส่งเสริมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ , มีภัยพิบัติธรรมชาติ , ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ , หนี้ขาดอายุความ , หนี้ค้างชำระเกิน 10 ปีขึ้นไป , หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ , เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หรือละทิ้งถิ่น , เกษตรกรผู้กู้ยืมทุพพลภาพ วิกลจริต เจ็บป่วยเรื้อรัง , ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือไม่สามารถชำระหนี้ และหนี้สินเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 1-3 หมื่นบาท โดยในแต่ละกลุ่มจะมีการพิจารณาหลักฐานในหน่วยงานของรัฐในแต่ละกองทุนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับรองข้อมูล
ส่วนกรณีที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อขับเคลื่อนและเร่งรัดงานตามนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน , คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน , คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (ระดับกระทรวง) หรือ ปขก. จำนวน 38 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกกระทรวงและหน่วยงาน
ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าการเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุนเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากข้าราชการไม่กล้าลงนามอนุมัติโครงการเพื่อจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะความกังวลว่าเมื่ออนุมัติไปแล้วจะถูกตรวจสอบและดำเนินคดีในภายหลัง
ส่วนเรื่องแนวทางกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 5 มีนาคมนี้ รัฐมนตรีคลังนัดประชุมเพื่อสรุปรายละเอียด เพื่อให้สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปในประเด็นเพดานอัตราการจัดเก็บแล้ว ส่วนกรณีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
และกำหนดการเดิม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุม ครม.-คสช.สัญจรครั้งแรก ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะเลื่อนออกไปเป็นมาเป็นวันที่ 27-28 มีนาคม เพราะนายกรัฐมนตรีต้องไปประชุมที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคมพอดี
ส่วนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ประกาศให้มีการคัดเลือกสมาชิกทำหน้าที่แทนนางทิชา ณ นคร สมาชิก สปช.ลำดับที่ 91 ที่ลาออกจากสมาชิก สปช.และสมาชิกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ โดยจะเริ่มการคัดเลือกในวันนี้ ด้วยการให้สมาชิกเสนอชื่อบุคคลเป็น กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน จากนั้นจะดำเนินการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกเป็น กมธ.ยกร่างฯ
ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้ นางทิชา จะเปิดแถลงสาเหตุที่ลาออก ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ในการทำงานนั้น ให้การสนับสนุนสิทธิสตรีมาตั้งแต่ต้น
ส่วนการประชุมอนุ กมธ.พิจารณายกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อจัดทำร่างมาตราในส่วนของบทเฉพาะกาล พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สาระสำคัญของส่วนนี้คือการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะกำหนดให้ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง และจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่เดิม แม้จะกำหนดให้การดำเนินการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) แต่ในช่วงแรก กจต.อาจจะยังไม่มีความพร้อม จึงต้องให้กกต. ทำหน้าที่เดิมไปก่อนระยะหนึ่ง
ขณะที่ในการประชุม สปช.เมื่อวานนี้ เห็นชอบรายงานการศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และ ร่างพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะประกอบไปด้วย สมาชิกประจำที่สรรหามาจากกลุ่มผู้แทนเครือข่าย จากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยสลับคราวละ 3 ปี ซึ่งสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายกำหนด ซึ่งคณะกรรมการสรรหา แต่งตั้งโดยคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 11 คน เพื่อทำหน้าที่คัดสรรผู้ที่เหมาะสมจำนวนไม่เกิน 2 เท่า ของจำนวนที่ต้องการ เพื่อเสนอให้คณะมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง
ในวันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะไปยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งภริยา บุตร และเครือญาติ มาช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 และผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง
*-*