การคัดเลือกบุคคลมาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนนางทิชา ณ นคร ที่ขอลาออกจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นัดประชุมเพื่อคัดเลือก ขณะที่ในเวลา 09.30 น.พรุ่งนี้ (3 มี.ค.) นางทิชา จะแถลงชี้แจงสาเหตุที่ลาออกจากตำแหน่ง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า สัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของนางทิชา เป็น 1 ใน 20 โควตา ของ สปช. ดังนั้น สปช. ต้องคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทน ส่วนจะใช้วิธีการใด เช่น การเลื่อนลำดับรายชื่อที่ 21 ขึ้นมาแทน หรือเลือกขึ้นมาใหม่ ก็แล้วแต่การพิจารณา ส่วนตัวคิดว่าสมาชิก สปช. ขาดไป 1 คน ก็คงไม่กระทบกับการทำงานมากนัก แต่ในส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คงต้องแต่งตั้งโดยเร็วนายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับตำแหน่ง สปช. ไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นมาทันที เนื่องจาก กฎหมายระบุว่า มีจำนวนไม่เกิน 250 คน เว้นแต่กรณีที่มีตำแหน่งว่างจำนวนมาก จึงจะแต่งตั้งในคราวเดียว อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะแต่งตั้งขึ้นมาแทน ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มกระบวนการเปิดรับสมัครใหม่ทั้งหมด อาจจะพิจารณาจากผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนข้อถามที่ว่า เป็นห่วงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเริ่มมีความขัดแย้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความรู้สึกและมีความคิด แต่ยังไม่ต้องพูดอะไรในตอนนี้ ยิ่งพูดมาก ยิ่งขัดแย้งมาก ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เริ่มต้น หาก คสช.เห็นว่า ควรจะทำประชามติ ก็ต้องเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก่อน เพื่อให้มีการทำประชามติ เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการ ดังนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับ คสช. แต่ไม่ใช่ทั้ง ร้อยละ100 เพราะต้องอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่ต้องใช้เวลา
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงกรณีหนังสือพิมพ์มติชน นำเสนอข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเสียหายอย่างร้ายแรงต่อตัวเอง และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้นางทิชา ลาออก จึงขอให้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบและความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโดยเร็วด้วย