รมว.คลัง ย้ำจัดเก็บภาษีคริปโต ขยายฐานภาษีเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

12 มกราคม 2565, 21:20น.


          หลังมีผู้คัดค้านในเรื่องภาษีการขายหุ้นและภาษีทรัพย์สินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี  ในส่วนของเรื่องภาษีคริปโต กรมสรรพากร กำลังหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย  ซึ่งการเก็บภาษีคริปโต ในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และเมื่อปีที่ 2564 ก็มีคนที่ยื่นเสียภาษีตัวนี้ แต่ในปี 2565 จะกำหนดในรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้การยื่นแบบง่ายขึ้น



          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม โดยคนที่ใช้ทรัพยากร หรือคนที่มีรายได้ ก็ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ แต่ที่มีการออกข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีบางเรื่อง ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้นๆเป็นการชั่วคราว เช่น กรณีการซื้อขายหุ้นที่ได้รับการยกเว้นมา 30 ปี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรายได้ของนายหน้าซื้อขาย (โบรกเกอร์)  ก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้วด้วย ซึ่งยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีจากการขายคริปโต และภาษีจากการขายหุ้นเป็นไปเพื่อขยายฐานภาษี และนำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ



          รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าในอดีต แต่รายได้จากภาษี ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพี ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีข้อยกเว้นทางภาษีเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนในบางภาคส่วน แต่เมื่อการสนับสนุนมาระยะหนึ่งและถึงเวลาที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง  การยกเว้นก็ควรลดลง



          สำหรับการเก็บภาษีคริปโตนั้น  ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโต แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็เช่นกัน มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย เพียงแต่ยกเว้นให้เท่านั้น ในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ในต่างประเทศมีการเก็บจากกำไรจากการลงทุน (Capital gain) หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่นเดียวกับภาษีคริปโต ที่มีการเก็บภาษีจาก capital gain หรือจากรายการธุรกรรม (Transaction)  ซึ่งเรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งสองตัวนี้ว่าจะเลือกแนวทางใด



          ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้นำผลขาดทุนมาหักออกจากผลกำไร ( off set) ได้ด้วยนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องแนวทางการจัดเก็บ  ซึ่งแนวทางการนำขาดทุนมาหักกลบก็อยู่ในหนึ่งของแนวทางที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วย ส่วนที่มีข่าวว่า อาจจะมีการยกเว้นภาษีคริปโต กรณีรายได้ต่อปีไม่ถึง 2 แสนบาท นายอาคมได้ปฏิเสธที่จะตอบในเรื่องนี้ เพียงแต่ระบุว่า เป็นเรื่องที่กรมสรรพากร กำลังพิจารณาในรายละเอียด



          ส่วนภาษีจากการขายหุ้น ก็มีแนวทางว่าจะเก็บจากการขายต่อครั้ง หรือจะเก็บจาก Capital gain  ซึ่งถ้าจัดเก็บจาก Capital gain จะกระทบนักลงทุนรายใหญ่เพราะมีการซื้อขายสูง ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางใด  แต่ประเทศส่วนใหญ่ เลือกเก็บวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่การจัดเก็บจาก capital gain จะมีความยุ่งยากในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล  ที่ต้องมีความรวดเร็ว เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เก็บจาก capital gain ซึ่งระบบสามารถ เรียกใช้ข้อมูลการซื้อขายแบบทุกนาทีได้



 #ภาษีคริปโต



#กระทรวงคลัง

ข่าวทั้งหมด

X