ธนาคารโลก ออกรายงานระบุว่าโควิดโอไมครอนกำลังส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวอย่างเด่นชัด และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3 เท่า รัฐบาลหลายประเทศมีหนี้อยู่ในระดับสูง และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยคุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา และยังมีปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกล่าสุด (Global Economic Prospects) ระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 4.1 ในปี 2565 ซึ่งเป็นมุมมอง ‘ในแง่ร้าย’ มากกว่ารายงานที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน (2564) ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 4.3 ในปีนี้ (2565)
และปรับลดคาดการณ์รายประเทศจากรายงานฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ดังนี้
เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตร้อยละ 3.7 ลดลงจากคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 5.6
จีน จะเติบโตที่ร้อยละ 5.1 ลดลงจากคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 8
ส่วนกลุ่มยูโรโซน จะเติบโตที่ร้อยละ 4.2 ลดลงจากคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 5.2
และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะเติบโตที่ระดับร้อยละ 4.6 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 6.3
ขณะที่ประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่าคาดการณ์ฉบับเดิมคือ ญี่ปุ่นที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.7
นาย เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินการคลังในสภาวการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ ธนาคารได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับระดับความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลหลายแห่งขาดอำนาจการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการเติบโต ในขณะเดียวกันราคาสินทรัพย์อย่างหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนรวยยิ่งร่ำรวยมากขึ้น แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ
ธนาคารโลกเตือนว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นปัญหาที่น่ากังวล เพราะจะนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในสังคมในประเทศกำลังพัฒนา
....
#ธนาคารโลก