*สปช.พิจารณาสมัชชาคุณธรรม/กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาบทเฉพาะกาล/นายกฯให้พิจารณาเงินเยียวยาอย่างรอบคอบ*

02 มีนาคม 2558, 07:59น.


ในวันนี้ ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณารายงานเรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานคณะกรรมการผลักดันเรื่อง



นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การพิจารณาเหลือเพียง 3-4 ประเด็นที่รอการลงมติ ซึ่งในวันนี้จะเริ่มพิจารณาบทเฉพาะกาล เพื่อดูว่ายังมีประเด็นใดที่ยังขาดตกบกพร่อง และปรับปรุงถ้อยคำ โดยตลอดเดือนมีนาคมจะเป็นการทบทวนและเรียงลำดับมาตราของรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่จะเสนอร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)พิจารณาต่อไป  



ส่วนในประเด็นที่นางทิชา ณ นคร ลาออกจากการเป็นกรรมาธิการนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวทางการเลือกตั้งกมธ.ยกร่างฯ แทนนางทิชานั้น จะต้องดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น ที่กำหนดให้แต่งตั้งบุคคลใหม่ภายใน 15 วันคือไม่เกินภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้  ดังนั้น สมาชิก สปช.ที่ประสงค์จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ อาจเสนอชื่อเข้าสมัครอย่างน้อย 2 วัน ก่อนวันที่จะนัดประชุม เพื่อลงคะแนนคัดเลือก รวมทั้งอาจมีการแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนกรณีที่เคยเสนอให้เอาสมาชิกสปช.ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับที่ 21 ให้มาเป็นกมธ.ยกร่างฯ นั้น เห็นว่าหากทำตามแนวทางนี้คงลำบาก เพราะไม่ได้มีการวางกฎเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ต้น



ด้านนายนพพล วิทย์วรพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สปช. กำลังพิจารณาปฏิรูประบบภาษีอากร ทาง ศวส. จึงเสนอรายงานการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตสุรา เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบหลายด้าน ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การขึ้นภาษีจะทำให้การบริโภคลดลง จึงนำเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์และตามมูลค่า มีการกำหนดเพดานภาษีไว้ในระดับสูงและสนับสนุนให้ใช้ราคาขายปลีกเป็นฐานในการคำนวณอัตราการจัดเก็บภาษี



ส่วนกรณีที่มีคำสั่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2556-2557 เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณากันอยู่ เพราะยังมีคดีความอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณีการจ่ายเงินเยียวยาที่ผ่านมาที่ดำเนินการไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ เพราะตามหลักเกณฑ์ ระบุจำนวนเพียงไม่กี่แสน แต่จ่ายไปหลายล้านบาท จึงต้องให้คณะกรรมการของสปน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอย่างรอบคอบ



ขณะที่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากกรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 โดยคาดว่า ทางป.ป.ช.คงสามารถส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ในสัปดาห์นี้ เพื่อให้รับทราบและมาแก้ข้อกล่าวหาต่อไป โดยผู้ถูกกล่าวหาต้องมารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับจากได้รับหนังสือ โดยจะมาด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจก็ได้ และหลังจากนั้นต้องมาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ส่วนเรื่องการขอสืบพยานนั้นทางคณะกรรมการป.ป.ช.ก็ต้องมาพิจารณาว่า มีผู้ใดบ้าง และพยานที่ขอมานั้นเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไรหรือไม่ต่อไป



ส่วนการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) ซึ่งมีการรับทราบผลการตรวจสอบขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) รวมถึงการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าจะต้องมีการเสนอชื่อคณะกรรมการชุดนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อป้องกันการแทรกแซงกิจการด้านการบิน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของไอเคโอว่า จะต้องมีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแผนงานรองรับทั้งในสถานการณ์ปกติและในช่วงสถานการณ์ผิดปกติ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ และในวันนี้จะมีการส่งแผนงานให้กับไอเคโอ ตามที่กำหนดให้แก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 90 วัน



วันนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นรายชื่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน ในสัดส่วนของ คปพ. เพื่อร่วมปฏิรูปพลังงาน



 *-*

ข่าวทั้งหมด

X