กรมชลฯ เน้นพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำการเกษตร เก็บน้ำในอ่าง

10 มกราคม 2565, 17:13น.


          กรมชลประทาน ประชุมผ่าน ระบบ Video Conference วิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำ รับมือภัยแล้ง ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศ เพาะปลูกข้าวไปแล้ว 4.05 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสนับสนุนการเกษตรก่อน จากนั้นจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำช่วยเสริม  พร้อมกับเดินหน้าตามมาตรการรับมือการขาดแคลนน้ำ ปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด  เน้นย้ำ น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ที่สำคัญต้องสร้างการรับรู้  รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วน ให้ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้  เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต



 



          ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,855 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 32,923 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,070 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้ 



          เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,761 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 7,065 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,525 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27



          การประชุมในวันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำ) เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่





#กรมชลประทาน



#ภัยแล้ง



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X