ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ระบุว่า โควิดโอไมครอนเข้ามาแทนที่โควิดเดลตามากกว่าร้อยละ 30 แล้ว โดยระบุว่า
"โควิด 19 โอไมครอน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อ
ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต 8 มกราคม 2565
ต้องยอมรับกันว่าขณะนี้ โอไมครอน ได้ระบาดอยู่ในประเทศไทย และทั่วโลก
จํานวนผู้ติดเชื้อที่รายงาน โอไมครอน จะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ในทุกประเทศ เพราะการตรวจจะเป็นการตรวจเพียงว่าเป็นเชื้อ covid19 เท่านั้น ไม่ได้แยกสายพันธุ์
การตรวจแยกสายพันธุ์ จะต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ เพื่อแยกว่าเป็นสายพันธุ์อะไร
ในต่างประเทศบางประเทศ ที่มีการตรวจเชื้อ covid19 ด้วยวิธี RT-PCR ตรวจยีนอื่นพบแต่ตรวจยีน S ไม่พบ ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอไมครอน เพราะ การกลายพันธุ์ในยีน S ทำให้ตรวจไม่พบ
ในประเทศไทยการตรวจหาไวรัส covid 19 เกือบทั้งหมดไม่ได้มีการตรวจยืน S ร่วมด้วย จึงไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
การตรวจหาสายพันธุ์จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจำเพาะ ในการตรวจ หรือถอดรหัสพันธุกรรม
ตัวเลขแต่ละประเทศที่รายงานมา เป็นการตั้งใจตรวจหาสายพันธุ์ หลายคนเมื่อดูอันดับการตรวจพบแล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ ความสามารถในการตรวจของเรามีความสามารถในการตรวจอยู่ในประเทศต้นๆเช่นเดียวกัน
ดังนั้นขณะนี้ การที่บอกว่าตรวจพบ 3,000 ราย ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ที่มีการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอไมครอน เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากกว่าหลายเท่าที่ไม่ได้ตรวจ เช่นเดียวกันในเกือบทุกประเทศจะเป็นแบบนั้น
การจะบอกได้ว่าขณะนี้การระบาดเป็นสายพันธุ์ โอไมครอน มากน้อยแค่ไหนจะต้องใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 มาตรวจ แล้วดูอัตราเปอร์เซ็นต์ในการพบโอไมครอน กับสายพันธุ์เดลตา มากกว่า
ขณะนี้ทางศูนย์กำลังทำอยู่ แต่ความสามารถของทางศูนย์ คงทำได้เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น อัตราการตรวจพบ โอไมครอน ที่ทำอยู่คง จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งขณะนี้เชื่อว่า โอไมครอน ได้เข้ามาแทนที่เดลตาเป็นจำนวนมากแล้วน่าจะเกินร้อยละ 30 แล้ว
...
#ยงภู่วรวรรณ
#โควิดโอไมครอน