ตามที่สหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลือง IUU ให้กับประเทศไทย และรัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นประเทศปลอดการประมง IUU ทั้งระบบ (IUU-Free)
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ย้ำการทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร และกระทรวงแรงงาน และจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการประมง สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัญหา IUU เป็นปัญหาระดับโลก รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความรับผิดชอบ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ (Flag State)
2) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของท่าเทียบเรือ (Port State)
3) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐชายฝั่ง (Coastal State)
4) ความรับผิดชอบในฐานะรัฐเจ้าของตลาด (Market State)
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การกระทำความผิดในปัจจุบันไม่อาจบังคับใช้ได้โดยกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง และเพื่อให้เห็นผลการทำงานเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงได้แบ่งการทำงานเป็น 4 ชุดปฏิบัติการ ประกอบด้วย
1) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบเพิ่มประสิทธิภาพด่านตรวจประมง มี รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ และมีพล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.อธ. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง ของด่านตรวจประมงทุกแห่ง
2) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) มี พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภาค 1 เป็นหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมาย และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการตรวจติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง ของศูนย์แจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) ทุกแห่ง
3) ชุดปฏิบัติการด้านการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจกลางทะเล มีผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหัวหน้าชุด และ พ.ต.อ.ชณพล วันขวัญ รอง ผบก.รน. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายในพื้นที่ทะเลทั้งเขตชายฝั่งและนอกเขตชายฝั่ง
4) ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว มี พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. เป็นหัวหน้าชุด และ พล.ต.ต.สุทธิพงษ์ เพชรรัตน์ ผบก.บ.ตร. เป็นรองหัวหน้าชุด ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายกรณีเร่งด่วน และสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับชุดปฏิบัติการที่ 1-3
ขอให้ทุกชุดปฏิบัติการทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ บนพื้นฐานของการอำนวยความยุติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำงาน
....
#IUU
#ประมงผิดกฎหมาย