ดร.เจเน็ต ดิแอซ หัวหน้าการจัดการทางคลินิกขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า โควิดโอไมครอนที่แพร่ระบาดได้มากกว่าโควิดเดลตาก่อให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยมีผลการศึกษาของการระบาดในระยะแรกที่พบว่า การติดเชื้อที่นำไปสู่การเกิดอาการที่ส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงทั้งในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยและผู้สูงอายุ แต่ผลกระทบต่อผู้สูงอายุยังมีความไม่ชัดเจน และผู้ป่วยส่วนใหญ่ในเวลานี้คือคนหนุ่มสาว
นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เตือนว่า แม้โควิดโอไมครอนจะทำให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดลตา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วที่หลายคนจะไม่มีอาการป่วยเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโควิดโอไมครอนจะเป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง เพราะยังมีผู้คนอีกมากที่ยังไม่ได้รับการปกป้องโดยสมบูรณ์ และในกลุ่มนี้หากติดเชื้อจะมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิต นอกจากนี้การแพร่ระบาดรุนแรงยังหมายถึงการที่ระบบการรักษาพยาบาลมีผู้ป่วยล้นมือ รัฐบาลแต่ละประเทศต้องพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมโรคระบาด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5 ล้าน 8 แสนคนทั่วโลก นพ.กีบรีเยซุส กล่าวเรียกร้องอีกครั้งในการสร้างความเสมอภาคที่มากขึ้นทั่วโลกในการแจกจ่ายและการเข้าถึงวัคซีน โดยคาดว่าจะมี 109 ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึงร้อยละ 70 ภายในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อยุติการแพร่ระบาดใหญ่ และมีอยู่ 36 ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึงร้อยละ 10
ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคขององค์การอนามัยโลก ด้านโควิด-19 กล่าวว่ายังมีโควิดสายพันธุ์ใหม่อีก 1 สายพันธุ์ คือ บี.1.640 ซึ่งมีการบันทึกครั้งแรกในหลายประเทศในเดือนกันยายน 2564 แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง
...
#องค์การอนามัยโลก
#โควิดโอไมครอน
#โควิดเดลตา
#วัคซีนโควิด