ในการสัมมนา เรื่อง สานพลังร่วมสร้างสร้างสมัชชาพลเมืองแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือสมัชชาพลเมือง ในวันนี้ นายสุจิต บุญบงการ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดการสัมมนา ระบุว่า สมัชชาพลเมืองถือว่ามีความสำคัญ และเป็นวิสัยทัศน์หลักของกรรมาธิการฯยกร่าง ที่ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ เพื่อตอกย้ำความรับผิดชอบต่อการดำเนินการทางการเมือง การตรวจสอบผู้นำและนักการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของประชาธิปไตย แต่ปัญหาก็คือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นโครงสร้างนักการเมือง และการตรวจสอบ ที่ให้อำนาจสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการสอบสวนน้อย ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง แต่ก็ประเด็นเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้ข้าราชการ นักการเมืองบางคนหลุดคดีเนื่องจากขาดอายุความ มีการทุจริตในภาครัฐที่นักการเมืองก็ยังสามารถหลบหลีกได้ จนเกิดการทุจริตในเชิงนโยบายอย่างโครงการรับจำนำข้าวที่มีความซับซ้อนและเกิดปัญหาที่ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนมีความอ่อนแออยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ อย่างไรก็ตามนายสุจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่นมากขึ้น แต่ผู้ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ใช่ประชาชน กลับเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น เหมือนในต่างประเทศซึ่งเห็นได้ชัดว่าเมื่อภาคประชาชนมีส่วนร่วม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวมก็ดีขึ้น
ขณะที่เครือข่ายสภาพลเมืองเพื่อการปฏิรูปภาคตะวันออก นำโดยนายจำรูญ สวยดี กล่าวว่า อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายลูกร่วมกับนักวิชาการ ทั้งอยากให้มีการคืนอำนาจให้กับประชาชนซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการจัดการตนเองและเชื่อว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้เพราะประชาชน ขณะเดียวกันมองว่าการปฏิรูปโดยสภาปฏิรูปขณะนี้มีเพียงข้อเสนอแต่ยังไม่มีการปฏิบัติที่ชัดเจน
ส่วนกรณีที่นางทิชา ณ นคร ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายสุจิต กล่าวว่า การลาออกไม่มีผลต่อการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ แต่เสียดายความรู้และความสามารถ และเชื่อว่านางทิชา อาจมีเหตุผลส่วนตัวจึงตัดสินใจลาออก ซึ่งจากนี้ ทาง สปช. จะคัดเลือกส่งสมาชิกมาทำหน้าที่แทนนางทิชาต่อไป
สำหรับการทำงานของฝ่ายเลขาธิการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ จะเป็นการยกร่างบทเฉพาะการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จแล้ว เหลือเพียง 3-4 ประเด็นซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ส่วนวันที่ 5-6 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ เต็มคณะ ซึ่งจะมีการพิจารณาความสอดคล้องและถ้อยคำในแต่ละมาตราให้มีความชัดเจน เพื่อให้เสร็จทันก่อนช่วงวันหยุดสงกรานต์ จากนั้นจะส่งให้สปช.พิจารณา แต่จะไม่มีการแก้ไข ซึ่งหาก สปช.ไม่เห็นชอบ ก็จะต้องยุบกรรมาธิการยกร่างยกร่างฯและ สปช. ทั้งนี้ ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติหรือไม่นั้น จะต้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้พิจารณา
ผสข.วิรวินท์ ศรีโหมด