การแก้ไขปัญหาหมูราคาแพง นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสุกรสูงขึ้น 3 ระยะคือ
1. มาตรการระยะด่วน ได้แก่
– ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรภายในประเทศให้มากขึ้น
– ช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี
– จัดสินเชื่อพิเศษของธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้ กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ
– ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
– เร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม
– เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทนโดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว
– เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการสรรและกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่
– กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค
– เร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค
2. มาตรการระยะสั้น ได้แก่
– ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
– ขยายกำลังผลิตแม่สุกรสนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน
– ศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด
3. มาตรการระยะยาว ได้แก่
– ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชอื่น แล้วส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในฤดูแล้งให้มากขึ้น
– ยกระดับมาตรการปรับปรุงระบบ Biosecurity ในการเลี้ยงสุกรให้เป็น GAP หรือ GFM ซึ่งจะป้องกันโรคได้ดีขึ้น
– ใช้ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสุกรไปต่างประเทศ
– ใช้ระบบการติดตามการเคลื่อนย้ายสุกร Tracking Smart Logistics
– ศึกษาและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ได้สุกรพันธุ์ดีและทนทานต่อโรคระบาด
– ศึกษาและพัฒนาการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรทั้งวงจร
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ จะเร่งหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นโดยเร็วที่สุด
สำหรับการประเมินจำนวนสุกรทั้งประเทศในปี 2564 จากการขออนุญาตเข้าฆ่าและส่งออก พบว่า รวมสุกรขุนทั้งประเทศ 19.27 ล้านตัว แบ่งเป็น สุกรเข้าฆ่า 18.29 ล้านตัวและส่งออก 0.98 ล้านตัว หรือลดลงร้อยละ 13
#หมูแพง
#กรมปศุสัตว์