สถานการณ์โควิด-19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 – วันที่ 3 ม.ค.65 พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนสะสม 2,062 คนจาก 54 จังหวัด รายงานเฉพาะเมื่อวันที่ 3 ม.ค.จำนวน 282 คน โดย 5 จังหวัด ที่ติดเชื้อโอไมครอนมากสุด คือ กทม. 585 คน กาฬสินธุ์ 233 คน ร้อยเอ็ด 180 คน ภูเก็ต 175 คน ชลบุรี 162 คน และ สมุทรปราการ 106 คน พร้อมสรุปสถานการณ์ดังนี้
1.การระบาดของเชื้อโอไมครอน จะส่งผลให้จำนวนรวมคนติดเชื้อในประเทศไทยมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อภาพรวมการเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตช่วงนี้เป็นการติดเชื้อก่อนหน้านี้
2.การติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาส่วนใหญ่ ร้อยละ 70-80 ดังนั้น ต้องระวังกลุ่ม 608 ให้มาก ยังมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต
3.การตรวจหาสายพันธุ์จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ไม่ตรวจทุกราย
4.มีข้อมูลการศึกษาว่าผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจะภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) เชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
นอกจากนั้น จากการศึกษาสำคัญในแอฟริกาใต้ ทั้งคนที่ฉีดวัคซีน และไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดการติดเชื้อโอไมครอน 14 วัน พบว่าคนนั้นจะมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 14-15 เท่า โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เป็นไปตามทฤษฎี และมีข้อสังเกตด้วยว่าภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมานี้ สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ 4 เท่า แต่ไม่ใช่ทุกราย
ในส่วนของประเทศไทยนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะรวบรวมผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยแล้ว 2 สัปดาห์ มาเก็บตัวอย่างเลือด และนำไปทดลองว่าสามารถสู้กับเชื้อเดลตาได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะขณะนี้ เรามีตัวอย่างเชื้ออยู่แล้ว หากจริงตามนี้เท่ากับว่าการติดเชื้อโอไมครอนไม่ได้มีผลร้ายอย่างเดียว แต่ขอย้ำว่า เราไม่ได้สนับสนุนให้ไปติดเชื้อโควิด เพราะเดินออกนอกบ้านวันนี้ ยังมีความเสี่ยงติดเชื้อเดลตา เนื่องจากยังเป็นสายพันธุ์หลักถึงร้อยละ 80 ในประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชรุนแรง
#โควิด19
#โอไมครอนในไทย