+++สภาพอากาศ ความกดอากาศสูงได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนแล้วและคาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ทำให้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
+++นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ด้านการเกษตรว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปี 2558 ฤดูฝนจะล่าช้าไปถึงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย. ซึ่งอาจจะส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกนาปรังเสียหายรุนแรงรวม 1.33 แสนไร่ แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9.5 หมื่นไร่ใน 12 จังหวัด และในลุ่มน้ำแม่กลองอีก 3.8 หมื่นไร่ สำหรับโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท ทั้งหมด 3,051 ตำบล กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนให้มีตำบลนำร่อง 541 ตำบล ที่จะเสนอแผนงานเพื่อของบประมาณภายในเดือนก.พ. ที่เหลือจะเสนอให้ครบทั้งหมดภายในเดือนมี.ค. ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานแจ้งการดำเนินการลงไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะงบประมาณร้อยละ 50 จะเป็นงบฯ จ้างงานที่ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทันที
+++กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าและการเผาในไร่นา โดยจะเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตร และให้กรมฝนหลวงปฏิบัติการเพื่อลดความเข้มข้นของหมอกควัน ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองยังไม่ถึงระดับอันตราย ต่อสุขภาพ ยกเว้นที่จ.ลำปางซึ่งเริ่มใกล้เข้าสู่ระดับดังกล่าว อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วแล้วที่จ.นครสวรรค์ และแผนปฏิบัติการประจำปีจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ โดยในภาคเหนือจะจัดตั้ง 2 จุด คือที่จ.พิษณุโลก และ จ.เชียงใหม่ รวมถึงจะร้องขอให้รัฐบาลร่วมมือกันช่วยควบคุมปัญหาหมอกควันด้วย
+++เรื่องพลังงาน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามยกเลิกประกาศเชิญชวนให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 รวม 29 แปลง ภายใต้ระบบสัมปทาน ซึ่งกำหนดปิดรับสิทธิการยื่นสำรวจและผลิตฯจากเอกชนวันที่ 16 มีนาคม หลังนายกฯสั่งให้แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปิโตรเลียมก่อน อาทิ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมที่มีอยู่เดิม หรือยกร่างกฎหมายระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (พีเอสซี) ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นหน้าที่ของ สนช. กรอบคร่าวๆ ที่มองไว้คือ หลังแก้กฎหมายเสร็จ 3 เดือน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม และออกประกาศเชิญชวนให้สำรวจและผลิตฯอีก 4 เดือน ก็จะเริ่มคัดเลือกเอกชนได้ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม ขณะที่วันนี้ กระทรวงพลังงาน จะมีการแถลงความคืบหน้าเรื่องนี้ด้วย
+++นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามยกเลิกประกาศแล้ว ขั้นตอนการปรับแก้กฎหมายทั้งหมดอยู่ที่ สนช. จึงไม่จำเป็นต้องตั้งกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่จำเป็นต้องร่วมประชุมเช่นกัน
+++แต่ฝ่ายคณะบุคคล ที่นำโดย มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และนายรุ่งชัย จันทสิงห์ ในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน 3 คณะ
+++การประชุมคณะกรรมการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและภาคประชาชน เพื่อศึกษาถึงข้อกฎหมายและรวบรวมความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 เดิมกำหนดประชุมร่วมกันวันที่ 26 กุมภาพันธ์ได้เลื่อนออกไปวันที่ 3 มีนาคมนี้ โดยจะหารือเรื่องแก้กฎหมายให้เกิดความชัดเจน จากนั้นส่งให้ สนช.พิจารณา ทั้งนี้ คณะทำงานร่วมฯจะยังทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีข้อยุติเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21
+++ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่หลายฝ่ายมองว่าล่าช้าว่า รัฐบาลกำลังพยายามเบิกจ่ายงบอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะผ่านการอนุมัติจากระดับบนอย่างรวดเร็ว แต่ในระดับของผู้ปฏิบัติการ พบว่าการเบิกจ่ายมีขั้นตอนต่างๆถึง 6 ขั้นตอน ก็เพื่อให้เกิดความโปรงใสในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งได้กำชับให้มีการลดขั้นตอน เพื่อให้การเบิกจ่ายเร็วขึ้น แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการตรวจสอบให้มีความโปร่งใสด้วยเชื่อว่าการเบิกจ่ายจะเร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 2
+++ เรื่องการส่งออก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่บอกว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 จะเติบโตได้ร้อยละ 4 นั้น ตัวเลขการส่งออกต้องไม่ติดลบ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นสัดส่วนส่งออกของไทยร้อยละ 40 ทั้งหมดชะลอตัวลง ดังนั้น ต้องดูแลการใช้จ่ายในประเทศให้ดี นโยบายอะไรที่จะลดการใช้จ่ายในประเทศต้องคิดให้ดี หลังตัวเลขส่งออกเดือนมกราคมที่ติดลบร้อยละ 3.4 ขอดูตัวเลขส่งออกเดือนกุมภาพันธ์อีกเดือน ถ้าติดลบอีกจะหนักใจ เดือนแรกออกมาติดลบก็ไม่สบายใจแล้ว
+++ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ระบุว่า จากการส่งออกเดือนมกราคม 2558 หดตัวร้อยละ 3.5 ทำให้ธนาคารปรับลดคาดการณ์ จากเดิมคาดส่งออกปี 2558 โตร้อยละ 2.9 เหลือโตร้อยละ 1 เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้าและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ระดับต่ำ
+++ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ระบุว่า ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยในปี 2558 โตเล็กน้อยแค่ร้อยละ 0.8 ขณะที่ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การส่งออกไทยยังไม่มีสัญญาณบวก เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลอื่น เศรษฐกิจของคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัว ทั้งสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีเพียงสหรัฐฯที่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เช่น ข้าวและยาง มีโอกาสสูงว่าส่งออกไทยพลาดเป้าตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ร้อยละ 4 เพราะยังไม่เห็นสัญญาณบวก
+++นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 2558) ลดลงแน่นอน เนื่องจากพิจารณาจากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี2557 จะสะท้อนมายังราคาก๊าซธรรมชาติให้ลดลง แต่จะลดได้มากกว่างวดแรก (ม.ค.-เมย.) ที่ปรับลดลงประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย หรือไม่ จะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) พิจารณา เพราะยังมีปัจจัยค่าเงินบาทเข้ามาพิจารณาด้วย
+++นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจทัศนคติพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันมาฆบูชาจำนวน 1,253ตัวอย่างทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 17-22 ก.พ.คาดว่าจะมีเงินสะพัด 1,656 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.75 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปีเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญทางศาสนามากสุดคือผู้สูงอายุ รองลงมาคือวัยทำงานและวัยรุ่น ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำในวันมาฆบูชาคือ ทำบุญร้อยละ 84.3 รองลงมาคือไปเวียนเทียนร้อยละ 61ตักบาตรร้อยละ 54.2 ซื้อสังฆภัณฑ์ร้อยละ 46.4 และปล่อยนกปล่อยปลาร้อยละ 10.8
+++การบินไทย ยืนยันดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บทุกราย หลังเที่ยวบินทีจี 641 เส้นทางนาริตะ-กรุงเทพฯ ตกหลุมอากาศ มีผู้บาดเจ็บ 11 คน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีเที่ยวบินทีจี 641 เครื่องบินแอร์บัส เอ 340-600 ออกจากท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เวลา 10.36 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) มีผู้โดยสาร 227 คน นักบิน 2 คน และลูกเรือ 22 คน มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ขณะที่เครื่องบินกำลังบินที่ระดับเพดานบินประมาณ 21,000 ฟุต ประสบสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้มีผู้โดยสารและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้รับบาดเจ็บ ตามที่ได้รับรายงานเบื้องต้น 11 คน โดยกัปตันได้ควบคุมเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยความปลอดภัย ในเวลา 15.51 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ยืนยันดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้โดยสารและพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน