*สำนักพุทธฯถกปมพระธัมมชโย/ผบ.ตร. เรียกผบช.น.-ผบช.ก.หลังทหารจับบ่อนหลายจุด*

27 กุมภาพันธ์ 2558, 08:39น.


+++การประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ชี้แจงแล้วว่า เป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพิจารณาพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เรื่องของพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย โดยในการประชุมวันนี้ ทุกคนจะได้รับความกระจ่างถึงข้อเท็จจริง



+++พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรพุทธ และ สนพ.ได้ประชุมหารือถึงท่าทีของทุกฝ่ายทั้งฝ่ายบ้านเมืองประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะการติดตามที่ สนพ.ที่ไปยื่นเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงการยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาใน 15 วัน ซึ่งหากไม่ดำเนินการใด คณะสงฆ์ทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เนื่องจาก สนพ.เห็นว่า รัฐบาลกับประธาน สปช. สามารถคุยกันได้ ทำไมถึงไม่ปรึกษากัน เมื่อตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาแล้วเกิดปัญหา  ไม่ได้รับการยอมรับ ก็ควรแก้ปัญหา หรือควรยกเลิกเสีย



+++ความคืบหน้าการตรวจสอบตู้เซฟยึดได้จากบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย)จำกัด พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รับผิดชอบภารกิจปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ เปิดเผยภายหลังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดตู้เซฟที่ยึดได้จากบริษัทดังกล่าวว่า พบโฉนดที่ดินและหลักฐานที่เชื่อมโยงกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จึงได้เรียกพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล หัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์กับวัดพระธรรมกาย เข้าพบเพื่อวางแนวทางการสอบสวนขยายผล โดยเฉพาะเส้นทางการถ่ายโอนโฉนดที่ดินจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯไปยังบุคคลอื่น ๆก่อนหน้าปปง.จะเข้าตรวจค้นสหกรณ์เมื่อปี 2556 นอกจากนี้ยังต้องสอบสวนถึงความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและวัดพระธรรมกาย เนื่องจากในชั้นสืบสวนปรากฎข้อมูลความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างกัน 

  

+++มีรายงานระบุว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลฯมีนายศุภชัย เป็นผู้บริหารทั้ง 2 แห่ง แต่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ เปิดไว้เพื่อระดมฝากเงิน ให้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยสถาบันการเงิน จากนั้นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯจะนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ซึ่งนอกจากจะระดมเงินฝากแล้วยังจะนำเงินมาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกต่อหนึ่ง โดยพบว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีมีวงปล่อยกู้ให้กับผู้มีจิตศรัทธาเพื่อทำบุญกับวัดพระธรรมกายด้วย ทั้งนี้ในการตรวจสอบงบดุลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี พบมีการปล่อยกู้เพื่อการกุศลให้กับลูกหนี้เกือบ 500 ราย วงเงินกว่า 230 ล้านบาท 



+++กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตั้งกรรมการสอบสวนพนักงานสอบสวนคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดเก่าที่มีปัญหาถูกร้องเรียนจากสมาชิกกรณีสอบสวนคดีล่าช้าและการสั่งไม่ฟ้องผู้เกี่ยวข้อง 2 รายสำคัญที่พบว่าได้รับเงินจากนายศุภชัยไปรวมกันถึง 2,566 ล้านบาท คือ นายจิรเดช วรเพียงกุล อดีตผู้ช่วย รมว.คลัง และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นักธุรกิจ โดยประเด็นดังกล่าวอัยการได้ตีกลับสำนวนให้ดีเอสไอสอบสวนใหม่และหากดีเอสไอยังสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการพิจารณาแล้วเห็นควรสั่งฟ้องก็สามารถสั่งฟ้องเองได้.



+++ผลจากการกวาดจับบ่อนการพนันหลายจุดของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ พล.ต.ท.ประวุฒิ  ถาวรศิริ   ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล  ได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ ผกก.,รองผกก.สส., รองผกก.ป., สวส. และ สวป ทั้ง 2 สถานี มาช่วยราชการ ในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2  คือ สน.โคกคราม4 นาย และ สน.บางเขน 5นาย ที่มีการจับกุมผู้เล่นการพนันได้ 23 คน ที่ซ.สหฟาร์ม ถ.นวมินทร์ และที่ซ.พหลโยธิน50 จับได้ 24 คน ส่วนที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 4  พื้นที่ สน.ลาดพร้าว ตำรวจ จับกุมเป็นโต๊ะสนุ๊ก ซึ่งดัดแปลงเป็นบ่อนการพนัน  พบอุปกรณ์การเล่น และผู้เล่น 1คน ซึ่งในส่วนของผู้บังคับการตำรวจนครบาล4 ยังไม่เข้าข่ายที่จะให้มาช่วยราชการ  พล.ต.ท.ประวุฒิ  กล่าวว่า   สน.โคกครามและสน.บางเขน  เข้าข่ายบ่อน  มีผู้เล่นเกิน20คน   ต้องมาช่วยราชการ บชน. ในส่วนพื้นที่ สน.ลาดพร้าว  มีแต่ไพ่ แต่ไม่มีผู้เล่น  ไม่เข้าข่าย  บ่อนการพนัน  นอกจากนี้ยังมีคำสั่งด่วนให้ พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์สุเมธ ผบก.น.2 ไปช่วยราชการที่ ศปก.ตร. ตั้งแต่วันนี้เป็นไปต้นไป



+++ในวันนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เตรียมเรียก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และพล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รักษาราชการ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รรทผบช.ก.) เข้าพบเพื่อชี้แจง ส่วนการเอาผิดกับตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ ผู้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับการ และรองผู้บังคับการ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ จะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีเจตนาปล่อยปละละเลยหรือไม่ ยืนยันว่า เรื่องการปราบปรามอบายมุขการกระทำผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญของ ผบ.ตร. ที่ได้กำชับไปแล้ว ดังนั้นหากพื้นที่ใดมีการจับกุมเจ้าของพื้นที่ต้องรับผิดชอบ



+++นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง ความคืบหน้ากรณีที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบคณะรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ  กรณีจ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงปี พ.ศ.2548-2553 จำนวน 577 ล้านบาท โดยไม่มีกฎหมายรองรับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้ และได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดี โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กำลังจะสรุปเรื่อง เพื่อเสนอต่อกรรมการ ป.ป.ช.ในเร็วๆ นี้ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องหรือไม่



+++ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผบก.พฐก. กล่าวถึง ผลของการตรวจพิสูจน์ลายเซ็นการเบิกจ่ายเงินของอดีตผู้บริหาร สจล.ยักยอกเงินว่า ผลการตรวจลายเซ็นโดยทางผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งทำการตรวจหาหลักฐานนำมาเปรียบเทียบลายเซ็นว่าปลอมหรือไม่ปลอม ผลใครเป็นคนเซ็นอนุมัติ ผลการตรวจจะ ออกภายในวันนี้ โดยทางพิสูจน์หลักฐานจะรายงานผลการตรวจให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบอีกครั้ง 

+++วันนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กับ สจล.  ร่วมแถลงข่าว การบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน โดยดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย  ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์  ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์  รักษาการแทนอธิการบดีสจล. รศ.นพ.กำจร ตติยกวี  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตัวแทนของธนาคารไทยพาณิชย์ จะประกาศคืนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของสจล. ซึ่งอยู่ในบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ แล้วถูกยักยอกไปในการแถลงข่าวครั้งนี้ และจะขอฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ผู้กระทำความผิดด้วย



+++  สำหรับเงินฝาก 1,500 ล้านบาทของ สจล.ที่ถูกยักยอก เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ 3 บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิ 1 บัญชี รวม 1.4 พันล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สจล. 100 ล้านบาท รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศรีนครินทร์ อีก 80 ล้านบาท



+++พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดียักยอกเงินสจล.เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งสรุปสำนวนคดี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้าก่อน จะส่งฟ้องอัยการ ไม่เกินช่วงกลางเดือน มี.ค. ซึ่งนอกจากผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกออกหมายจับไปแล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาออกหมายเรียก หรือขออนุมัติศาลออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติม



+++ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ. ได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง อภิปรายถกเถียง มาตรา 174 ที่กำหนดให้ ส.ส.เป็นผู้เลือกนายกฯ ซึ่งไม่ได้กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เหมือนในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากมี กมธ.เสียงข้างน้อยมองว่า ตามที่เคยหารือกันเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะกำหนดให้ที่มาของนายกฯ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จะทำได้ก็ต่อเมื่อในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเมืองเท่านั้น         



+++จากนั้น กมธ.ยกร่างฯจึงนำเสนอในมาตราดังกล่าวเป็น 4 แนวทาง คือ 1.ให้ระบุว่า ถ้านายกฯเป็น ส.ส.อยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี แต่ถ้าไม่ใช่ ส.ส.ให้อยู่ 2 ปี เนื่องจากเป็นบุคคลภายนอกสภา ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งให้เข้ารับการคัดเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกฯ ให้กำหนดว่า เสียงที่จะใช้สนับสนุนนายกฯคนนอกต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด และ ให้ยึดตามร่างบทบัญญัติที่ฝ่ายเลขานุการฯได้นำเสนอ คือนายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.เพราะเรื่องสำคัญไม่ควรเขียนให้แคบ แต่ควรเขียนให้กว้าง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายว่าเป็นการบังคับ สุดท้ายที่ประชุมตัดสินใจใช้ให้มีการโหวตตัดสิน  เฉพาะสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุม เป็นรายบุคคลว่าสนับสนุนแนวทางใด ผลปรากฏว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ประมาณ 17 เสียงสนับสนุนให้คงหลักการตามร่างที่ฝ่ายเลขานุการฯได้นำเสนอ



++ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการในวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ด้วยคะแนน 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 22 คน เพื่อดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน สาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้ เช่นเดียวกับ การชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล กระทำมิได้ หากผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ด้วย สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนได้กำหนดโทษไว้ 9 กรณี ซึ่งมีทั้งจำและปรับ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี



+++นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยึดหลัก 4 ข้อ คือ 1.กฎหมายนี้ไม่ได้ระบุว่าการชุมนุมต้องไปขออนุญาตการชุมนุม แต่ให้ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าจะมีการชุมนุม เพื่อบอกให้รู้ว่าจะชุมนุมในวันใดถึงวันใด เพื่อเตรียมการรับมือและอำนวยความสะดวก 2.กฎหมายนี้ส่งเสริมให้มีการจัดสถานที่ชุมนุม 3.กฎหมายนี้ให้หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพว่าเจ้าหน้าที่จะไปสลายการชุมนุมไม่ได้ และ 4.กฎหมายนี้ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษสุด เพราะมีคนถามว่า เมื่อมีกฎหมายนี้การชุมนุมยังมีหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า การชุมนุมยังมีอยู่และอาจมากขึ้น แต่การชุมนุมจะมีระเบียบมากขึ้น



 

ข่าวทั้งหมด

X