ประเด็นการแกะรอยหมอเถื่อนในคลินิกเสริมความงามชื่อดัง รวมถึงกรณี บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “Restylane” รายเดียวในประเทศไทย ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า คลินิกชื่อว่า “อิสคิวท์ คลินิก สาขาห้วยขวาง” ไม่ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางบริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส.ดำเนินการประสานขอข้อมูลกับพนักงานสอบสวน บก.ปคบ.พร้อมลงพื้นที่ ณ อิสคิวท์ คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันนี้ เบื้องต้นพบว่า คลินิกดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ตรวจสอบการดำเนินงานของคลินิกว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ พร้อมตรวจสอบเอกสารทางการแพทย์ เวชระเบียน และบันทึกถ้อยคำจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดพบว่า หมอเถื่อนรายดังกล่าวมาเริ่มให้บริการฉีดสารเสริมความงาม (ฟิลเลอร์/โบท๊อกซ์) ณ อิสคิวท์ คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง ในวันที่ 12-14 ธันวาคม 2564 โดยมีผู้รับบริการ จำนวน 12 คน ก่อนที่ทางคลินิกจะสืบทราบ ทำให้ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไป
ในกรณีของหมอเถื่อนที่ลักลอบให้บริการในสถานพยาบาลนั้น นอกจากบทลงโทษตามกฎหมายพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 กับหมอเถื่อนแล้ว หากพบว่าผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีส่วนรู้เห็นก็จะมีการดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ยังพบความผิดในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น คลินิกมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยโดยไม่ได้รับอนุญาต การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และการไม่แจ้งรายชื่อของแพทย์ผู้ให้บริการกับผู้อนุญาต ซึ่งจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ส่วนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ข้อมูลการสุ่มตรวจสถานประกอบการโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 ลงพื้นที่ตรวจสถานบริการ “อิสคิวท์ คลินิก” แต่ไม่ใช่สาขาห้วยขวาง จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. จึงยังไม่พบความผิดเรื่องจากการยาจากคลินิกดังกล่าว
การที่ได้มาของผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทฯ ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าอาจไปขายให้รายอื่น แล้วมีการขายต่อกัน การซื้อจากเอเจนซี่ จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนการซื้อขายยาโดยตามข้อกำหนด
รวมทั้งขอให้ประชาชนตรวจสอบให้มีความมั่นใจว่าสถานบริการนั้นได้รับทะเบียนถูกต้อง ตามป้ายประกาศที่ติดหน้าคลินิก มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทย์สภาถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ เพราะในเรื่องผลิตภัณฑ์ถ้าเขาจะโกงจริงๆ ก่อนจะฉีดเขาหยิบกล่องให้ดู แต่พอฉีดจริงก็อาจเอาอย่างอื่นมาฉีดได้ เชื่อว่า หากเป็นแพทย์จริง สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนจริง ความเสี่ยงที่จะทำมันไม่คุ้ม ส่วนใหญ่ที่เอาของไม่จริงไปทำ มักเป็นแพทย์ไม่จริง เพราะแพทย์จริงเขาไม่เอาวิชาชีพมาเสี่ยง
#คลินิกความงาม
#คณะกรรมการอาหารและยา