บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายยืนยันว่า ยาแพกซ์โลวิดของทางบริษัทสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์เปิดเผยเมื่อเดือนพ.ย.ว่า ยาแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพ 89% ในการป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาจากการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 1,200 คน
ส่วนการเปิดเผยผลการวิเคราะห์ล่าสุดในวันนี้ มาจากการทดลองกับอาสาสมัครเพิ่มขึ้นอีก 1,000 คน โดยไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากกลุ่มที่ได้รับยาแพกซ์โลวิด ส่วนกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอกมีผู้เสียชีวิตจำนวน 12 คน ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาแพกซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน ผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ด้านดิสคัฟเวอรี่ เฮลธ์ บริษัทประกันสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ เปิดเผยผลการศึกษาจากสถานการณ์จริง (Real-world study) ที่ระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคจำนวน 2 โดส มีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันการป่วยหนักจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้ถึง 70% ในการศึกษาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้
การศึกษาครั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างผลตรวจโควิด-19 ที่เป็นบวก 211,000 ตัวอย่างตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. ถึง 7 ธ.ค.โดยในจำนวนนี้มี 78,000 ตัวอย่างที่คาดว่าเป็นเชื้อไวรัสโอไมครอน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ตัวอย่างเชื้อทั้ง 78,000 ตัวอย่างยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนจริง ฉะนั้น ผลการศึกษาฉบับนี้ยังอาจมีความคาดเคลื่อนได้ ปัจจุบันแอฟริกาใต้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนแล้วราว 550 คนโดยในช่วงเดือนพ.ย.จนถึงปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ติดเชื้อโอไมครอนอยู่ที่ 78% แซงหน้าสายพันธุ์เดลตา
#โควิด19
#แพกซ์โลวิด