ดร.วสันต์ คาดใช้ 1-2 เดือน จับตาโอไมครอน แปลสภาพเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่

14 ธันวาคม 2564, 18:14น.


          การพัฒนาของโควิด-19สายพันธุ์โอไมครอน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า จากฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISIAD มีการบันทึกข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยกันสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อ 6 ล้านตัวอย่าง ระบุไม่มีไวรัสสายพันธุ์ไหนสามารถดึงสายพันธุกรรมหรือจีโนมบางชิ้นส่วนของไวรัสตัวอื่นเข้ามาผสมในจีโนมตัวเอง ยกเว้นโอไมครอน ซึ่งมีความสามารถพิเศษต่างจากไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่น โดยสามารถดึงเอาจีโนมบางส่วนของบรรดาไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดโรคหวัดเข้ามาผนวกในสายจีโนมของตัวเองได้ และสร้างกรดอะมิโน 3 ตัวที่ต่างไปจากไวรัสโควิด คือ กรดกลูตามิก โปรลีน และกรดกลูตามิก  



'ทำให้ต้องดูต่อไปและต้องระวัง เนื่องจากการดึงสายพันธุกรรมไวรัสตัวอื่นเข้ามาได้ หากไปดึงสายพันธุ์อื่นเข้ามา อย่างเดลตา อัลฟา เบตาจะเกิดอะไรขึ้น อาการจะรุนแรงหรืออ่อนกำลังลงยังไม่มีใครรู้ ต้องติดตาม ความจริงโอไมครอนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นไวรัสลูกผสมกลายๆ เนื่องจากมีสายพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดธรรมดาผนวกอยู่ด้วย มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่เหมือนตัวอื่น'



          ดร.วสันต์ คาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจึงจะเห็นชัดว่าโอไมครอนจะเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่  โดยเฉพาะข้อมูลจากอังกฤษที่มีการระบาดของโอไมครอน หากในที่สุดแทนเดลตาได้ และอัตราเสียชีวิตน้อย ก็ชัดเจนว่าสายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรง แต่ติดเชื้อได้ไว และมีโอกาสที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เนื่องจากไม่เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง อาจจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาที่มาตามฤดูกาล ก็จะเข้าสู่โหมดที่เรียกว่าโรคประจำถิ่น ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น



          ส่วนโอกาสแพร่ระบาดในประเทศไทยมีหรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ใน กทม.และปริมณฑล หรือพื้นที่ภาคกลางเวลานี้อยู่ในช่วงขาลงของเดลตา แม้จะมีเดลตาระบาดขึ้นมาอีก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ฉะนั้นหากพบว่าจุดไหนมีการติดเชื้อระบาดขึ้นมา อาจจะตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นโอไมครอนหรือไม่ โดยใช้วิธีตรวจด้วย PCR เพื่อดูว่าเป็นสายพันธุ์ใดคร่าวๆ ได้ โดยส่วนตัวคิดว่าโอไมครอนมีการติดต่อที่ง่าย จึงมีโอกาสที่จะเข้ามาและมีการติดเชื้อภายในประเทศได้ หากเข้ามาเป็นหย่อมๆ แล้วเราทันหรือไม่ที่จะเข้าไปตัดตอนไม่ให้กระจาย แต่ด้วยที่เรามีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติและที่ฉีดวัคซีนกันก็คิดว่าน่าจะยันอยู่



           สถานการณ์ที่อังกฤษน่าสนใจ ขณะนี้มีการระบาดของโอไมครอนจำนวนมากขึ้น ต้องติดตามว่าจะมีผู้เสียชีวิตกี่ราย ที่มีรายงานขณะนี้มีเพียงรายเดียว ต้องเข้าใจด้วยว่าโดยทั่วโปผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็มีการเสียชีวิตเช่นกัน ต้องติดตามสักพัก หากจำนวนผู้ติดเชื้อมากแต่ผู้เสียชีวิตน้อยก็คงพอไหว หากมีผู้เสียชีวิตมากก็ต้องระวัง คำแนะนำสำหรับไทยสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการคือการฉีดกระตุ้นเข็มสาม



           นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลของผู้เสียชีวิตมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น โรคประจำตัว หรือ การรับวัคซีนโควิด-19 แล้วหรือไม่ เนื่องจาก ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน โอกาสที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้





 #โรคประจำถิ่น



#โอไมโครอน

ข่าวทั้งหมด

X