*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30
++++เยียวยาม็อบ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้มีหนังสือถึง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (คศป.) ลงวันที่ 25 ก.พ.2554 ลงนามโดย พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมให้แก่ผู้ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2556-2557 หลังพระสุเทพ ปภากโร หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มีหนังสือเร่งรัดขอให้รัฐบาลติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งดำเนินการชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2556-2557
+++จากนั้นได้นำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว โดยเห็นว่าเนื่องจากการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความปรองดองและการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดอีกในอนาคต ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ สปน.ดำเนินการเยียวยาในส่วนที่เป็นตัวเงิน โดยให้สอบถามความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงแนวทางการชดเชยเยียวยาตัวเงินแก่ผู้รับผลกระทบดังกล่าว และให้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และเสนอแนวทางการเยียวยาด้านการเงินอย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงมาตรการเยียวยาด้านมนุษยธรรมเช่น ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การช่วยเหลือหาอาชีพ เร่งรัดกระทรวงยุติธรรมติดตามและเร่งรัดความคืบหน้าด้านคดีในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2556-2557 ของทุกฝ่าย รวมถึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อเนื่อง
+++การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอน อดีต ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และการแถลงโต้แย้งการเปิดสำนวนของผู้ถูกกล่าวหา โดยมีอดีต ส.ว. 29 คน เข้าร่วมประชุม นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี 1 ใน 38 ส.ว. ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมปฏิเสธ ข้อกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ล้มล้างการปกครอง
+++หลังเสร็จสิ้นการแถลงเปิดสำนวนคดี ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายยุทธนา ทัพเจริญ คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล และ นายกรรณภว์ ธนภรรค ภวิน โดยให้ สมาชิก สนช. ยื่นข้อซักถาม ภายในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 12.00 น. กำหนดวันซักถาม วันที่ 5 มี.ค. หลังจากนั้น จะมีการแถลงปิดคดีในวันที่ 12 มี.ค. และ ลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ในวันที่ 13 มี.ค.
++++ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้น ส่วนใหญ่คงหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม มีเพียงการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยคือ มาตรา 112 มีการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เพิ่มเติมคือ ต้องแสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เว้นแต่เป็นผู้ไม่มีรายได้ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนว่ามีการจ่ายภาษี ส่วนมาตรา 115 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะได้รับเลือกเป็น ส.ส. ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเสียงโหวตโนนอกจากนี้ ยังมีมาตรา 119-120 ที่กำหนดให้ กกต. มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับแต่วันยุบสภา และ กกต. ยังมีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ หากมีเหตุใด ๆ ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยใดไม่สามารถทำได้ในวันเดียวกัน
+++ขณะที่มาตรา 118 มีการวางแนวทางใหม่ในข้อ 6 ว่าด้วยการสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ที่กำหนดว่า หากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกลงมติไม่ไว้วางใจ สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อปกป้องฝ่ายบริหารที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาลผสม โดยหวังจะให้ ส.ส. ตรวจ สอบนายกรัฐมนตรี และฝ่ายบริหารด้วยการถอดถอนในแนวทางอื่นแทน
++++นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ ส.ว. มีจำนวนไม่เกิน 200 คน ดำรงตำแหน่ง 6 ปี วาระเดียว มา จากการเลือกตั้งทางอ้อมจากบุคคล 5 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน (2) ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าฯ เลือกกันเองประเภทละไม่เกิน 10 คน (3) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพฯ เลือกกันเองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวนไม่เกิน 10 คน (4) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงานฯ จำนวนไม่เกิน 50 คน และ (5) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดินฯ เลือกกันเองตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวนไม่เกิน 100 คน
ส่วนผู้ที่เคยเป็น ส.ว.พ้น ตำแหน่งมาไม่เกิน 2 ปีจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่ง ต่าง ๆ วุฒิสภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิ การขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อก่อน แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ
++++ส่วนพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก คสช. กล่าวยืนยันว่า ทางฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ลงโทษไล่ออกจากราชการ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกฎระเบียบของทางมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ สำหรับกรณีที่ นายสมศักดิ์ ระบุว่า มีทหารไปที่บ้าน พร้อมทั้งส่งคนตามรังควานญาติ และยัดเยียดข้อหาหมิ่นเบื้องสูงฯ นั้น พ.อ.วินธัย ชี้แจงว่า นายสมศักดิ์ไม่ได้แสดงถึงเจตนาที่อยากมาพิสูจน์หรือแก้ต่างข้อกล่าวหาตามกระบวนการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติที่ เจ้าหน้าที่ ต้องพยายามติดตามตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
++++พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มีดำริให้ตั้งเสาธงชาติ ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมอบหมายให้ กรมยุทธโยธาทหารบกดำเนินการก่อสร้าง และมีกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ เสาธงชาติดังกล่าวจะมีความสูง 30 เมตร เท่ากับเสาธงที่อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ยืนยันว่าการติดตั้งเสาธงชาติครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปรับฮวงจุ้ย หรือแก้เคล็ดเสริมดวงรัฐบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ตามหลักทหารเสาธงควรต้องปักจากพื้นดินตั้งขึ้นไป
++++พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยืนยันว่า นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องเดินทางไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. ภายหลังถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม. ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้หาก ป.ป.ช. พิจารณาว่ามีการทุจริต ต้องดำเนินตการลงโทษตามกระบวนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น และคงยากหากจะเรียกว่าเป็นการทุจริต
++++สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2557-2558 ในส่วนของประเทศไทย มีข้อเรียกร้อง อาทิ ขอให้รัฐบาลไทย ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น และการชุมนุมโดยสงบ ขอให้ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือน และขอให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใด ๆ สามารถฟ้อง ร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
+++หลังตำรวจชุดสืบสวนนครบาล และชุดสืบสวนภาค 3 ร่วมกันจับกุมชายต้องสงสัยก่อคดีข่มขืนหญิงสูงอายุต่อเนื่อง 10 คดี ในเขตพื้นที่ จ.นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ขณะที่ นายเอ (นามสมมุติ) ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน กล่าวว่า ทำงานส่ง น้ำแข็งที่โรงน้ำแข็งแห่งนี้มานานกว่า 1 ปีแล้ว วันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาเชิญตัวไปสอบสวน ตนและเพื่อนกำลังออกไปส่งน้ำแข็งตามปกติ จนกระทั่งตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย เดินเข้ามาพูดคุยพร้อมทั้งนำภาพถ่ายมา ระหว่างทางตำรวจพูดอยู่ตลอดเวลาว่า รับสารภาพซะโทษจะได้ไม่หนัก ตอนนั้นรู้สึกกลัวมาก จนผมต้องยอมรับสารภาพออกไป แต่เมื่อดีเอ็นเอไม่ตรงจึงถูกปล่อยตัวออกมา อยากขอความเป็นธรรมที่ตกเป็นจำเลยของสังคม ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้ายที่ตระเวนข่มขืนหญิงสูงอายุ รู้สึกเสียใจมากและยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา
+++ นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เปิดเผยว่า สศร.ได้จัดประกวด โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 6 ผลปรากฏว่า นายภัทรวิทย์ บุญพรม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็น 1 ใน 10 ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปจัดแสดง ผลงานศิลปะ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐ อเมริกา สำหรับ ผลงานของ นายภัทรวิทย์ มีชื่อว่า "เมื่อไหร่จะทำตามสัญญา ขอเวลาแต่น๊านนาน" เป็นภาพวาดล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พระสุเทพ ปภากโร กำลังร่ายรำ มีฉากหลังเป็นรั้วลวดหนาม ธงชาติ รัฐธรรมนูญ และ กรวยยาง ทั้งนี้ นายภัทรวิทย์ ระบุว่า ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวการเมืองไทย ที่ทุกคนล้วนเสแสร้ง ปั้นแต่ง เรื่องราวที่พูด และกระทำเป็นเพียงแค่การแสดงเท่านั้น