มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งพิจารณา โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 21 ธ.ค 2564 เบื้องต้นมาตรการจะเน้นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน ซึ่งมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายภาคประชาชนต้องสะดุด รวมถึงอาจจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ โดยรายละเอียดทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการหารือ
ในส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 นั้น อาจจะต้องขอพิจารณาตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องก่อน ขณะนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคธุรกิจเริ่มกลับมาถือเป็นสัญญาณที่ดี มีสิ่งเดียวที่ต้องรอคอย คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น เมื่อรายได้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ประชาชนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เราจะเริ่มได้เห็นบางบริษัทเรียกพนักงานที่ถูกพักงานช่วงโควิด-19 กลับมาทำงาน มีการบรรจุพนักงานใหม่ เมื่อรายได้เข้ากระเป๋า การใช้จ่ายก็เข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าจะไม่เท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะมีกำลังซื้อจากท่องเที่ยวเยอะ แต่ก็ยืนยันว่ารัฐบาลยังพร้อมจะดูแลการใช้จ่ายภาคประชาชนต่อไป โดยการใช้จ่ายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของจีดีพี รัฐบาลยังสามารถรักษาตรงนี้ให้เติบโตได้ ส่วนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีในการฟื้นตัว
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 65 เชื่อว่าจะขยายตัวได้ที่ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าปีนี้ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 1% ในปีหน้ารัฐบาลมีเม็ดเงินอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมาจากงบลงทุน 6 แสนล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก. กู้เงินโควิดเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือเม็ดเงินอีก 2.5 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุน และประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ามาตรการด้านสาธารณสุขของไทยจะสามารถควบคุมได้ แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีการผ่อนคลายมาตรการ และมีการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. โดยต้องพยายามรักษาแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีนี้จนถึงปีหน้า รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำตลอดว่า "การ์ดต้องไม่ตก"
#โควิด19
#กระตุ้นเศรษฐกิจ