ศาลยุติธรรมไม่ลดโทษ ‘เปรมชัย’ กรมราชทัณฑ์ระบุไม่จำเป็นต้องรักษาตัวนอกเรือนจำ

08 ธันวาคม 2564, 16:58น.


          ตามที่ศาลฎีกาอ่านคำตัดสินคดีล่าเสือดำ โดยแก้โทษจำคุก นายเปรมชัย กรรณสูต จาก 2 ปี 14 เดือน เหลือ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา, นายยงค์ โดดเครือ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 9 เดือน ไม่รอลงอาญา และ นายธานี ทุมมาศ ซึ่งสารภาพว่าเป็นคนยิงเสือดำ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 13 เดือน ไม่รอลงอาญา พร้อมให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2 ล้านบาท แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่



          นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะโฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า คดีนี้แม้ว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 55 ร่วมกันรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่า แต่ยังคงมีความผิดข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2562 ดังนั้น นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 คงจําคุก 2 ปี 14 เดือน, นายยงค์ จำเลยที่ 2 คงจำคุก 2 ปี 17 เดือน, นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปีหากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และ นายธานี จำเลยที่ 4 คงจำคุก 2 ปี 21 เดือน พร้อมให้จำเลยทั้ง 4 คนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ คือให้จำเลยทั้ง 4 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง



          สำหรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ผู้ร้องขอ



          นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงขั้นตอนในการรับตัวเข้าเรือนจำว่า เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ต้องรับตัวในฐานะผู้ต้องขังเข้าใหม่ มีการสอบประวัติ และพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามปกติ จากนั้นจะต้องกักตัวตามมาตรการโรคโควิด-19 จำนวน 21 วัน กรณีที่มีโรคประจำตัว หรือมีอาการป่วย ทางเรือนจำมีพยาบาลวิชาชีพในการตรวจอาการ และมีสถานพยาบาลรองรับอยู่แล้ว ส่วนกรณีมีอาการป่วยหนัก ต้องมีการยืนยันจากแพทย์ จากนั้นจึงจะนำตัวไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลแม่ข่าย ในลักษณะเช้าเย็นกลับ ไม่อนุญาตให้มีการแอดมิด เว้นเสียแต่มีอาการโคม่าต้องดูแลอย่างใกล้ชิด กรมราชทัณฑ์มีทีมแพทย์มาตรวจโรคผู้ต้องขังเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว จึงไม่น่ามีเหตุที่จะต้องนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการขอพักโทษนั้น จะต้องจำคุกให้ครบ 2 ใน 3 ตามหลักเกณฑ์เสียก่อน



....



#เปรมชัย



#เสือดำ

ข่าวทั้งหมด

X