นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ(NIAID) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนไม่ทำให้คนไข้ป่วยหนักกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนๆ รวมทั้ง เดลตา และบางทีอาการเจ็บป่วยอาจจะน้อยกว่าด้วย ทั้งนี้ นพ.เฟาซี ได้แยกประเด็นเรื่องเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน เป็น 3 หัวข้อคือ 1)ลักษณะการแพร่ระบาด 2) การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหลังหายป่วยหรือหลังฉีดวัคซีน 3)ความรุนแรงของการเจ็บป่วย
ในเรื่องลักษณะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโอไมครอน นพ.เฟาซี ระบุว่า ข้อมูลต่างๆ ชี้ว่า เชื้อไวรัสโอไมครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งการประมวลข้อมูลทางระบาดวิทยาทั่วโลก ชี้ว่า เชื้อไวรัสโอไมครอนก่อให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ(re-infection)ในอัตราที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆด้วย แต่การระบาดเร็วกว่าไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เจ็บป่วยหนักกว่า หรือทำให้มีอัตราการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตมากกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ
ในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน นพ.เฟาซี กล่าวว่า NIAID อยู่ระหว่างทดลองเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสโอไมครอน คาดว่าจะทราบผลการทดลองในอีกไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า จะทราบว่าวัคซีนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันเชื้อไวรัสโอไมครอนได้หรือไม่
ส่วนประเด็นเรื่องความรุนแรงของการเจ็บป่วย นพ.เฟาซี ระบุว่า ข้อมูลต่างๆเท่าที่ติดตามเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ พบว่าอัตราการติดเชื้อกับจำนวนคนไข้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลดูเหมือนจะต่ำกว่าตัวเลขคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสเดลตา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เชื้อไวรัสโอไมครอน ทำให้เจ็บป่วยน้อยกว่าเชื้อไวรัสเดลตา นพ.เฟาซี ขอให้ทุกคนรออีก 2-3 สัปดาห์ จึงจะทราบข้อมูลในเรื่องนี้อย่างชัดเจน อีกทั้งจะต้องติดตามข้อมูลจากทั่วโลกด้วยว่า คนไข้ในประเทศอื่นๆมีอาการป่วยมากน้อยเพียงใด
นพ.เฟาซี แนะนำให้สาธารณชนในสหรัฐฯ รวมทั้งกลุ่มที่รับวัคซีนครบโดสแล้ว ดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีระหว่างการเดินทาง เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในอาคารที่มีผู้คนแออัด เนื่องจากเราไม่ทราบว่าคนอื่นๆรับวัคซีนมาครบโดสแล้วหรือยัง พร้อมแนะนำให้คนที่รับวัคซีนมาครบโดสแล้วให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เสริมภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น
#สหรัฐฯ
#ไวรัสโอไมครอน