ศ.แมทธิว สเนพ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด อังกฤษ หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนแบบไขว้ (Com-COV2) เปิดเผยว่า การศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนแบบไขว้โดยใช้วัคซีนต่างยี่ห้อ ใช้อาสาสมัคร 1,700 คน ทีมวิจัย พบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เป็นเข็มแรก และฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มที่สองในอีก 9 สัปดาห์ต่อมา ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้สูงขึ้นอย่างชัดเจนและปลอดภัย ไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรง ผลวิจัยเรื่องนี้พิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์เดอะแลนเซ็ต ด้วย
โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก ตามด้วยวัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่สอง ทีมวิจัย พบว่า ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้สูงกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งสองเข็ม
ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนโมเดอร์นา หรือวัคซีนโนวาแว็กซ์ เข็มที่สอง ทีมวิจัยพบว่า ระดับของสารแอนติบอดี(ภูมิคุ้มกัน) และการตอบสนองของที-เซลล์ในร่างกายของคนไข้จะสูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม ถึงแม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้จะยังต่ำกว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้งสองเข็ม
ผลวิจัยดังกล่าว นับว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจนถึงกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นในการนำวัคซีนต่างยี่ห้อมาฉีดสลับกันระหว่างเข็มที่หนึ่งกับเข็มที่สอง ในกรณีเกิดปัญหาเฉพาะหน้า เช่น มีวัคซีนบางยี่ห้อเหลืออยู่น้อย หรือไม่เพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชน ทั้งแสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดอยู่กับแนวคิดเดิมๆที่ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันทั้งสองเข็ม
แต่ในกรณีที่รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนยี่ห้อต่างๆในปริมาณที่มากพอ ไม่เกิดปัญหาขาดแคลน เรื่องการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ
#อังกฤษ
#ผลวิจัยฉีดวัคซีนแบบไขว้