*วิปสปช.ชี้แจงคณะกก.ปฎิรูปศาสนาฯ ทำหน้าที่ถูกต้องปกป้องศาสนาจากผู้พยายามบิดเบือนคำสอน*

25 กุมภาพันธ์ 2558, 16:07น.


หลังจากมีเสียงเรียกร้องให้ยุบคณะคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนาย ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานเพราะเห็นว่ามีความไม่เป็นกลาง นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. ระบุว่า การประชุมวิปวันนี้ได้นำประเด็นดังกล่าวมาหารือ อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า คณะทำงานของนายไพบูลย์ ไม่มีเจตนาจะทำลายฝ่ายใด หรือเจาะจงกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ได้นำคดีของวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยมาเป็นกรณีศึกษา เพราะเห็นว่าส่งผลต่อศาสนาและเป็นแนวทางที่ตรงกับการปฎิรูปของคณะทำงานเท่านั้น โดยคณะทำงานต้องการปกป้องกิจการพุทธศาสนาที่ขณะนี้กำลังเป็นเครื่องมือหากินจากศรัทธาประชาชนของกลุ่มบุคคลหนึ่ง พร้อมระบุว่ามีผู้พยายามบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผิดเพี้ยน  จึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่คณะทำงานต้องเข้ามาศึกษาเพื่อจัดการกับกลุ่มดังกล่าวให้เด็ดขาด และเป็นการปกป้องสมบัติของศาสนา ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีคณะทำงานฝ่ายฆราวาสเข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย เพราะจะช่วยให้มีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณามากขึ้น



ส่วนการประชุมสปช.ในวันจันทร์นี้ จะมีวาระพิจารณาการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติด้วย โดยองค์กรสมัชชานี้จะมีการรับรองทางกฎหมายให้สามารถเผยแพร่ความประพฤติอันมิชอบของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงได้ เพื่อถ่วงดุลการคอร์รัปชั่น โดยที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนที่ต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาประเทศที่เรื้อรังมานาน นอกจากนี้จะมีการพิจารณาในเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จด้วย นอกจากนี้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ยังได้เร่งให้คณะกรรมาธิการปฎิรูปทั้ง 18 คณะ กำหนดกรอบการปฎิรูป 36 ประเด็นให้แล้วเสร็จเบื้องต้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ และต้องมีแนวทางชัดเจนในวันที่ 10 เมษายน 2558 ส่วนการประสานงานร่วมกันระหว่างสปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น หากสปช.มีมติ คำแนะนำ หรือปัญหาใด คสช.และครม.จะต้องนำไปพิจารณาเป็นพิเศษ รวมทั้งจะมีการประสานงานร่วมกันเป็นระยะเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและให้การทำงานเป็นไปโดยสะดวก ส่วนหากมีกฎหมายใดที่เสนอจากสปช. จะไปให้ครม.พิจารณาก่อนเป็นเวลา 20 วันเพื่อตรวจดูว่าซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ก่อนส่งไปสนช. เมื่อถึงสนช.แล้ว ได้กำหนดร่วมกันว่า การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติต้องมีผู้เสนอกฎหมายดังกล่าวจากสปช.เข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายด้วย



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X