การตรวจหาเชื้อโอไมครอน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทย์ศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจเชื้อ "โอไมครอน" ต้องใช้เวลาในการตรวจ เนื่องจาก เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีน้ำยาตรวจโดยตรง จึงเลือกใช้น้ำยาตรวจของอัลฟา และเบตาแทน หากผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าติด "โอไมครอน"
เนื่องจาก ตำแหน่งรหัสพันธุกรรมบางตัวมีลักษณะตรงกับ "โอไมครอน" แล้วเข้าสู่กระบวนการด้วยหาพันธุกรรมทั้งตัวด้วยจีโนม ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจยืนยัน หากพบเชื้อก็จะรายงานผลให้ GISAID ด้วย ทั้งนี้ หากพบคนติดเชื้อโอไมครอนจริง ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยัน ไม่ปกปิดแน่นอน ส่วนกรณีเคสพบชาวแอฟริกันป่วยและรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรนั้น ผลการตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อเดลตา
ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ได้สำรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ในประชากรไทย ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวน 26,717 คน อายุตั้งแต่ 18 – 60 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 48 เพศหญิง ร้อยละ 52 จาก 12 เขตสุขภาพ รวมกว่า 30 จังหวัด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร เนื่องจาก มีการฉีดวัคซีนแล้ว เกินร้อยละ 100 โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ด้วยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกัน ด้วยเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ผลการสำรวจแยกตามจำนวนตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากจังหวัดใน 12 เขตสุขภาพ พบผู้ที่มีแอนติบอดีคิดเป็นร้อยละ ดังนี้
เขตสุขภาพที่ 1 ลำปาง ลำพูน พะเยา จำนวน 1,416 คน พบร้อยละ 0.4
เขตสุขภาพที่ 2 เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จำนวน 1,431 คน พบร้อยละ 1.7
เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ อุทัยธานี จำนวน 1,366 คน พบร้อยละ 0.4
เขตสุขภาพที่ 4 ปทุมธานี สิงห์บุรี จำนวน 1,382 คน พบร้อยละ 2.5
เขตสุขภาพที่ 5 กาญจนบุรี สมุทรสงคราม จำนวน 1,084 คน พบร้อยละ 2.7
เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา จำนวน 2,517 คน พบร้อยละ 2.8
เขตสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม จำนวน 3,726 คน พบร้อยละ 1.2
เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ จำนวน 3,137 คน พบร้อยละ 0.9
เขตสุขภาพที่ 9 ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จำนวน 4,084 คน พบร้อยละ 1.0
เขตสุขภาพที่ 10 ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ จำนวน 3,702 คน พบร้อยละ 0.5
เขตสุขภาพที่ 11 ชุมพร ระนอง นราธิวาส จำนวน 1,744 คน พบร้อยละ 1.1
เขตสุขภาพที่ 12 นราธิวาส สตูล จำนวน 1,128 คน พบร้อยละ 6.2
ผลจากการสำรวจแอนติบอดีในภาพรวมของ 12 เขตสุขภาพ พบร้อยละ 1.4 จากการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ข้อมูลการติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบด้วยการตรวจ RT-PCR ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 – 26 ตุลาคม 2564 มีการติดเชื้อ 1,884,802 คน จากประชากรในประเทศ 72,034,815 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อร้อยละ 2.6 และมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วร้อยละ 54.7
สำหรับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 จะเกิดขึ้นได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือเกิดจากการติดเชื้อเองโดยธรรมชาติ ขณะนี้ภาพรวมภูมิคุ้มกันทั้งประเทศจากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อจนเกิดภูมิแล้วมีประมาณร้อยละ 58.7 ดังนั้นยังมีประชาชนอีกประมาณร้อยละ 41.3 ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อ และเกิดอาการรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นพื้นที่ ที่มีจำนวนประชาชนที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่มาก จะต้องเร่งสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันให้ได้มากๆ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องไปฉีดวัคซีนให้เยอะขึ้น ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องประชาชนมาฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
#ภูมิคุ้มกัน
#โควิด19
CR:เพจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์