การแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จำนวน 38 คน ในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยมิชอบ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตสว.นนทบุรี ตัวแทนผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายอดีตสว. 38 คนระบุว่า ไม่ได้มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และเป็นไปตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ยังได้กระทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่แนะนำให้แก้ไขเป็นรายมาตราด้วย พร้อมระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อหวังให้ตัวเองได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง เพราะก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะได้รับเลือกจากประชาชนให้กลับเข้ามาทำหน้าที่หรือไม่ ยืนยันว่ามาตรา130 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติการคุ้มครองการลงมติและการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกไว้ และระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยกเลิกไปแล้วจากการรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าตัวเองและอดีตสมาชิกวุฒิสภาจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องตกไปด้วยเช่นกัน
ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตสว. อุทัยธานี ตัวแทนของส.ว.ยืนยันว่า แนวทางการทำงานของส.ว.ไม่ได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือฝ่ายใด แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ที่มาของส.ว. มาจากประชาชนโดยตรงมากขึ้น พร้อมระบุว่า อุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาของตัวเองถูกนำไปโยงเข้ากับความขัดแย้งทางการเมือง
หลังการแถลงเปิดคดีแล้ว ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีมติให้สมาชิกสนช.สามารถยื่นญัตติคำถามให้คณะกรรมาธิการซักถามได้ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00น. เพื่อให้คณะกรรมาธิการซักถามนำญัตติไปซักถามคู่กรณีระหว่างกลุ่มอดีตส.ว. 38 คนและป.ป.ช.ต่อไป พร้อมทั้งให้คู่กรณียืนหนังสือเพื่อแถลงปิดคดีได้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม - 9 มีนาคม 2558 และตั้งคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 7 คน และนัดคู่กรณีซักถามอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคม 2558 โดยจะมีการแถลงปิดคดีในวันที่ 12 มีนาคม และลงมติถอดถอนในวันที่ 13 มีนาคม
ธีรวัฒน์