ศ.ซอล เฟาสท์ หัวหน้าทีมวิจัยโครงการวัคซีนบูสเตอร์จากมหาวิทยาลัยเซาแธมตัน อังกฤษ เปิดเผยว่า วัคซีนที่มีอยู่จะสามารถรับมือเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้หรือไม่ แม้ว่าทีมวิจัยยังไม่ได้ศึกษาในเรื่องนี้ แต่ทีมวิจัยเชื่อว่า การฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโอไมครอนได้เช่นเดียวกัน
จากการศึกษาวัคซีนบูสเตอร์หรือวัคซีนเข็มที่ 3 ใช้อาสาสมัครในอังกฤษ 2,878 คน อายุ 30 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้ว 70-84 วันก่อนฉีดบูสเตอร์ ทำการวิจัยระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน ทีมวิจัยพบว่า จากการตรวจตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร 4 สัปดาห์ หลังรับวัคซีนบูสเตอร์ อาสาสมัครมีระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงขึ้น ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง
ผลวิจัยระบุว่า วัคซีน 7 ตัวที่ใช้ฉีดบูสเตอร์ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษ-สวีเดน,วัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคจากสหรัฐฯ-เยอรมนี,วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน,วัคซีนโนวาแว็กซ์ และวัคซีนโมเดอร์นาจากสหรัฐ วัคซีนเคียวแว็คจากเยอรมนีและวัคซีนวัลเนวาจากฝรั่งเศส มีประสิทธิภาพในการเสริมภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รับวัคซีนวัคซีน 2 เข็มแรก เป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน เช่น รับวัคซีนไฟเซอร์สองเข็มแรก
แต่ในกรณีของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทีมวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 ให้กับอาสาสมัครที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแรก ระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนบูสเตอร์จะไม่สูงมาก เมื่อเทียบการใช้วัคซีนยี่ห้ออื่นๆในการฉีดบูสเตอร์ ทั้งนี้ทีมวิจัยจะติดตามศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนบูสเตอร์กับอาสาสมัครเป็นระยะเวลาหนึ่งปี
นับเป็นผลวิจัยที่สำคัญหลังมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า หลังรับวัคซีนมาสองเข็ม หรือหนึ่งเข็มในกรณีของวัคซีนที่ฉีดเข็มเดียวเช่น วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะค่อยๆลดลง ทำให้การฉีดวัคซีนบูสเตอร์มีความจำเป็นอย่างมาก
#โควิด19
#อังกฤษ
#ผลวิจัยบูสเตอร์โดส