นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ และรับตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ ด้วยชุดตรวจมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในภาคใต้ สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ รวมถึงศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน และระบบภูมิคุ้มกัน การวิจัย การตอบสนองของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการได้สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 43,918 คน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 - 26 พฤศจิกายน 2564 พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 28,705 คน สายพันธุ์อัลฟา 14,523 คน และสายพันธุ์เบตา 690 คน โดยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดประเทศ ข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,955 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่านักวิจัยของ ม.อ. ได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสตลอดจีโนม ค้นหาสายพันธุ์ที่กำลังระบาดโดยการรับตัวอย่างบางส่วนจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้และเขตสุขภาพที่ 12 โดยได้ดำเนินการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้น ด้วยเทคนิค whole genome study เพื่อรายงานผลให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอัพโหลดข้อมูลสู่ระบบกลางระดับสากล รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลจีโนมเชื้อไวรัสเพื่อการศึกษาและวิจัยในอนาคต ซึ่งนอกจากจะทำให้การวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภาคใต้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยของ ม.อ. ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญของประเทศ ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับกับสถานการณ์การระบาดมากขึ้น
...
#โควิด19