การติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า “วันนี้ เรายังขีดเส้นใต้ 2 เส้น ว่ายังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย” หลังองค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนล่าสุด จากเดิมมี 4 ตัว คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นเดลตา ขณะที่ ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ตรวจรหัสพันธุกรรมมาตลอดแม้จะไม่มีการระบาด ซึ่งข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.64 เป็นต้นมา ตรวจ 75 ตัวอย่าง จากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ทั้งที่มาจากสหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย กาตาร์ อังกฤษ รวมถึงเกาะมอริเชียส ในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก ตรวจเสร็จแล้ว 45 ตัวอย่าง ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน ยังพบเป็นสายพันธุ์เดลตา และเดลตาสายพันธุ์ย่อย ส่วนอีก 30 ตัวอย่าง อยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์อีก 1-2 วันนี้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ย้ำว่า ประชาชนอย่าตกใจ ย้ำว่า RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานการตรวจของไทยและระดับโลก ยังสามารถวินิจฉัยสายพันธุ์โอไมครอนได้ โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯได้คิดเทคนิคเพื่อให้การตรวจรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจาก น้ำยาในการตรวจหาเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ยังไม่มี เรากำลังพัฒนาอยู่ คาดว่า อีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะได้ ระหว่างนี้จึงใช้หลักว่า หากเอาน้ำยา 2 ตัวของอัลฟา และเบตา หากตรวจพบตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทั้ง 2 ตัว คือตัวเจอทั้งคู่แสดงว่า เป็นโอไมครอน
สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ว่า ไม่สามารถหาเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้จริงหรือไม่ เนื่องจาก สถาบันแห่งหนึ่งรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าอ่านละเอียด ก็พบว่า เขาไม่ได้บอกอย่างนั้น ต้องเรียนว่ากรมวิทยาศาสตร์ฯพูดชัดมาตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.64 ว่าห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) ที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ ถ้าจะยืนยันว่าตรวจหาเชื้อเป็นผลลบ ต้องตรวจมากกว่า 1 ยีน หรือถ้าตรวจ 1 ยีน แต่ต้องมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นผลลบทั้งหมด ถึงจะยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ เช่นเดียวกับ การตรวจยืนยันเป็นผลบวก ซึ่งการทำเช่นนี้ จึงเกิดอานิสงส์ว่าเมื่อมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เช่น โอไมครอน มันอาจทำให้ตรวจบางยีนไม่พบ หรือบางยีนอาจโผล่ขึ้นมา
ส่วนการตรวจด้วยชุด ATK ยังสามารถตรวจได้หรือไม่ โดยเฉพาะชุดตรวจเล่อปู๋ รวมทั้งขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดละ 40 บาท นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังใช้ได้ แต่ข้อมูลเบื้องต้น โปรตีนที่ใช้ตรวจยังไม่มีผลกระทบเรื่องการกลายพันธุ์ แต่ก็ต้องมีการติดตามพิจารณาด้วย เพราะเดิมก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแสดง หรือจดแจ้งว่าโปรตีนที่ใช้ตรวจไม่ได้มีผลต่อการกลายพันธุ์ ซึ่งตรงนี้จะมีการหารือกับทาง อย.ถึงเรื่องนี้ เพื่อให้บริษัทได้ดำเนินการต่อไป
ด้านการตรวจหาสายพันธุกรรมไวรัสผู้เดินทางเข้าประเทศระบบไม่กักตัว (Test and go) ที่ให้ผลบวกในวันที่ 27 พ.ย.64 จำนวน 8 คน จากโปแลนด์ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม มองโกเลีย ไอร์แลนด์ และ สปป.ลาว ทั้งหมดยังเป็นสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์ย่อย ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนเช่นกัน
#ตรวจหาเชื้อโอไมครอน
#กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
#โควิด19