ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ว่าจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้ ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน และแบบจำลองของกรมอุตุนิยมวิทยา มีแนวเมฆฝน ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.-4 ธ.ค.64 มีผลกระทบในหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และ นราธิวาส ส่วนน้ำท่วมที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากตกอยู่ในท้ายเมือง ส่วนที่ อ.เคียนซา อ.พระแสง และอ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ยังมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำ แถวลุ่มน้ำตาปี นอกนั้นสถานการณ์ปกติ และหลังวันที่ 5 ธ.ค.64 สภาพอากาศจะปลอดโปร่ง
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พ.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมทั้งรองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในภาคใต้ พร้อมทั้ง เน้นย้ำ เรื่องการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง กำลังคน และอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร ในการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้สั่งการ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ โดยใช้ ข้อมูลจากแผนที่ เรดาร์ ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลจากศูนย์อุทกวิทยา หรือหน่วยติดตามน้ำ เพื่อจะได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำท่า ให้มีความสมดุลกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะได้แจ้งเตือนไปที่จังหวัดและให้ประชาชนเฝ้าระวังล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ในการเก็บของ จะเห็นได้ชัดเจนในช่วงการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี เช่นเดียวกับ การคาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำมาได้ประมาณ 1 เดือน ในขณะนี้ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้น พื้นที่ลุ่มต่ำ และลุ่มน้ำท่าจีนบางส่วน คาดว่า กลางเดือน ธ.ค.64 ลุ่มน้ำท่าจีน จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสุด
ขณะที่ การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี มูล ในส่วนของลุ่มน้ำชี ในพื้นที่ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด น้ำสูงกว่าตลิ่ง ประมาณ 10 เซนติเมตร ภายใน 1-2 วันนี้น้ำจะลดลง ส่วนลุ่มน้ำมูล ยังมีพื้นที่ในอ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ราษีไศส จ. ศรีษะเกษ น้ำสูงกว่าตลิ่งไม่ถึง10 เซนติเมตร ส่วนระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำM 7 ต่ำกว่าตลิ่ง ช่วงนี้เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพ.ย.64-เม.ย.65
นอกจากข้อมูลต่างๆแล้ว ยังต้องดูเรื่องความมั่นคงของอาคาร เขื่อน เครื่องจักรเครื่องมือ และการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่ต้องขอความร่วมมือท้องถิ่น และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ภาพรวมปริมาณน้ำในปีนี้ทั้งประเทศดีกว่าปีที่แล้วมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทุกเขื่อนขนาดกลาง เขื่อนขนาดใหญ่ น้ำสำรอง เพียงพอในการอุปโภค บริโภค ตลอดทั้งปีแน่นอน นอกจากนี้ ต้องเตรียมสำรองน้ำไว้ ทำให้ในทุ่งบางระกำและในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยารวม 1.4 ล้านไร่ ต้องปรับปฎิทินการปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้น 1เดือน เพื่อหลบหลีกเรื่องของอุทกภัย
#กรมชลประทาน
#ฤดูมรสุมภาคใต้
#เก็บน้ำในฤดูแล้ง
CR:ภาพ กรมชลประทาน